คันแฮ้วนกก่อ

Lasianthus inodorus Blume

ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกันรูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกเล็ก สีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ สุกสีส้มหรือสีแดง เมล็ด ๕ เมล็ด มีเกรารเแข็งหุ้ม

คันแฮ้วนกก่อเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. กิ่งเกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกัน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนา คล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น เส้นใบย่อยเรียงขนาน เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่างก้านใบยาว ๐.๖-๑ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๓-๕ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ไร้ก้านช่อดอก ใบประดับติดทน รูปวงกลมหรือรูปไข่แกมรูปวงกลม ยาว ๓-๖ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ดอกเล็ก สีขาว ไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปใบหอก ด้านนอกมีขนประปราย กลีบดอกยาวประมาณ ๑ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านนอกมีขนประปรายด้านในมีขนอุย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ที่คอหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปแถบ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปหลอดแคบ ยอดเกสรเพศเมียมี ๕ พู

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ ซม. สุกสีส้มหรือสีแดง เกลี้ยง กลีบเลี้ยงติดทน เมล็ด ๕ เมล็ด มีเกราะแข็งหุ้ม

 คันแฮ้วนกก่อมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ และป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๐๐-๑,๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีน (ยูนนาน) เวียดนาม และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คันแฮ้วนกก่อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lasianthus inodorus Blume
ชื่อสกุล
Lasianthus
คำระบุชนิด
inodorus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย