คันช้อน

Villarsia rhomboidalis Dop

ชื่ออื่น ๆ
ใบพาย (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ผักตบชวาเล็ก (ตะวันออก)
ไม้นํ้าล้มบุก เหง้าสั้นหนา มีกาบใบปกคลุมใบเดี่ยว เรียงเวียน ออกใกล้รากเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปไข่แกมรูปรี ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดรูปค่อนข้างกลม มี ๒-๔ เมล็ด

คันช้อนเป็นไม้นํ้าล้มลุก สูง ๑๐-๒๐ ซม. เหง้าสั้นหนา มีกาบใบปกคลุม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน ออกใกล้รากเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายมนโคนสอบเรียว ขอบเรียบหรือเว้าเป็นคลื่นถึงหยักซี่ฟันเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง เมื่อแห้ง สีนํ้าตาลดำ เส้นใบเห็นไม่ชัด ก้านใบกว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๑๔ ซม. ค่อนข้างแบน โคนก้านใบเป็นกาบ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๒-๓ ซม.

 ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ๑-๓ ช่อ ก้านช่อยาวเรียว เกลี้ยง ใบประดับที่ใคนก้านช่อดอกแตกต่างจากใบกระจุกใกล้ราก รูปไข่ รูปแถบ หรือรูปช้อนกว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๕ ซม. ไม่มีก้านเรียงสลับหรือเกือบตรงข้ามกับช่อดอก ช่อดอกมีดอกน้อยก้านดอกย่อยรูปเส้นด้าย ยาว ๑-๑๐ ซม. ที่โคนก้านมีใบประดับย่อยลักษณะคล้ายวงใบประดับ ดอกสีเหลือง กว้างและยาว ๐.๘-๑ ซม. กลีบเลียงยาว ๖-๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก แฉกกลีบเลี้ยงหนา มี ๕ แฉก ขนาดเกือบเท่ากัน รูปใบหอก ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเกือบจะเป็นรูปวงล้อหลอดกลีบดอกสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาด ไม่เท่ากัน รูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. มีเส้น ๓ เส้น ขอบกลีบจรดกัน มีชายครุยและม้วนพับเข้าข้างใน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ที่โคนกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือไม่มี อับเรณูรูปแถบแกมหัวลูกศรยาวประมาณ ๓ มม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวย ปลายสอบเรียว มี ๑ ช่อง ออวุล ๒-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู ขนาดใหญ่คล้ายกลีบดอกเป็นชายครุย

 ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดรูปค่อนข้างกลม มี ๒-๔ เมล็ด

 คันช้อนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลในช่วงฤดูฝนในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คันช้อน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Villarsia rhomboidalis Dop
ชื่อสกุล
Villarsia
คำระบุชนิด
rhomboidalis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dop, Paul Louis Amans
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1876-1954)
ชื่ออื่น ๆ
ใบพาย (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ผักตบชวาเล็ก (ตะวันออก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา