คันคาก

Rhaphiolepis indica (L.) Lindl. ex Ker

ชื่ออื่น ๆ
กับแก, พังกี่, อะห้วย (ตะวันออกเฉียงเหนือ); เม็งสะเกริน (ตะวันออก)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีชมพู ผลแบบผลเทียมเนื้อนุ่ม รูปทรงกลม สุกสีน้ำเงินดำ เมล็ดรูปทรงกลมมี ๑(-๒) เมล็ด

คันคากเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๘ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม แหลม หรือมนโคนสอบแคบ ขอบตอนบนจักฟันเลื่อย ตอนล่างเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. หูใบเล็กมากรูปลิ่มแคบ ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๓-๑๐ ซม. มีขนสั้นหนานุ่มหรือเกลี้ยง ก้านดอกย่อย ยาวประมาณ ๕ มม. ใบประดับรูปลิ่มแคบแกมรูปใบหอก ร่วงง่าย เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๐.๘-๑.๒ ซม. ดอกสีขาวหรือสีชมพู กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยและเชื่อมติดกับผนังรังไข่ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก มีหลายรูป รูปลิ่มแคบแกมรูปแถบหรือรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมหรือมน มีขนสั้นหนานุ่มหรือเกลี้ยง กลีบร่วงง่าย รูปไข่กลับ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายแหลมหรือมน กลีบดอก ๕ กลีบ ติดอยู่ที่ขอบของถ้วยอาจพบกลีบดอกรูปค่อนข้างกลมบ้าง เกสรเพศผู้ ประมาณ ๒๐ เกสร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ ก้าน โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก เกลี้ยงหรือมีขนยาวประปราย

 ผลแบบผลเทียมเนื้อนุ่ม รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. สุกสีนํ้าเงินดำ เมล็ดรูปทรงกลม มี ๑(-๒) เมล็ด

 คันคากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบเขาและป่าละเมาะ บนภูเขาหินทราย ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๕๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับในเขตอบอุ่นที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ใช้เป็นสมุนไพรพื้นเมือง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คันคาก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhaphiolepis indica (L.) Lindl. ex Ker
ชื่อสกุล
Rhaphiolepis
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Lindley, John
- Ker, Charles Henry Bellenden
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Lindley, John (1799-1865)
- Ker, Charles Henry Bellenden (1785-1871)
ชื่ออื่น ๆ
กับแก, พังกี่, อะห้วย (ตะวันออกเฉียงเหนือ); เม็งสะเกริน (ตะวันออก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา