คอแห้ม

Grewia lacei J. R. Drumm, et Craib

ชื่ออื่น ๆ
ข้าวตาก (ตะวันออก); มะก่อแฮ้ม, หนาดนก, หางนก (เหนือ); หางหมาน้อย (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้พุ่ม เปลือกสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปแถบแคบ ดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปค่อนข้างกลม มี ๒-๔ พู แต่ละพูมีเมล็ดรูปค่อนข้างกลม ๑(-๒) เมล็ด

คอแห้มเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๒ ม. มีขนประปรายถึงค่อนข้างหนาแน่น เปลือกสีนํ้าตาลอ่อนหรือสีเทามีเส้นใยยาวและเหนียว กระพี้สีขาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปแถบแคบค่อนข้างโค้งเล็กน้อย กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเรียวยาวคล้ายหาง โคนสอบและเบี้ยว ขอบหยักละเอียด แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวอ่อน มีขนประปราย ด้านล่างสีนวลหรือสีเหลืองอ่อน มีขนและเกล็ดสีนํ้าตาลหนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๑ เส้น เส้นคู่ล่างออกตรงข้ามใกล้ใคนใบและโค้งทอดยาวขึ้นไปเกือบถึงกึ่งกลางใบ ส่วนเส้นอื่น ๆ เหนือขึ้นไปออกเรียงสลับ ปลายเส้นจรดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่างก้านใบยาว ๒-๕ มม. มีขนค่อนข้างหนาแน่น

 ดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกเชิงประกอบ ยาว ๒-๓ ซม. ออกตามซอกใบ ช่อตั้ง ก้านช่อยาว ๐.๕-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๕ มม. มีขนสั้นหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แยกกันรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๔-๘ มม. มีขนสั้นหนาแน่นทางด้านนอกส่วนด้านในมีขนราบไปตามผิวประปราย กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มี ๕ กลีบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีขนบริเวณส่วนที่ค่อนไปทางโคนกลีบทั้ง ๒ ด้าน โคนกลีบมีต่อมเกสรเพศผู้จำนวนมาก ไม่ติดเป็นกลุ่ม เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันจะไม่พบในดอกเพศผู้ แต่จะพบมากในดอกเพศเมียอับเรณูติดด้านหลัง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลมกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนมี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปลิ่มแคบ ยอดเกสรเพศเมียแผ่แบนแบบก้นปิด

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปค่อนข้างกลม มี ๒-๔ พู แต่ละพูกว้างและยาวประมาณ ๕ มม. ผิวเกลี้ยงเป็นมันมี ๑(-๒) เมล็ด เมล็ดรูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๓ มม.

 คอแห้มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบแล้ง และ ตามบริเวณที่ถูกแผ้วถางมาก่อน ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๓๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอก และเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่พม่าและลาว

 ประโยชน์ เปลือกให้เส้นใยใช้ทำเชือก ผลอ่อนรับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คอแห้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Grewia lacei J. R. Drumm, et Craib
ชื่อสกุล
Grewia
คำระบุชนิด
lacei
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
ข้าวตาก (ตะวันออก); มะก่อแฮ้ม, หนาดนก, หางนก (เหนือ); หางหมาน้อย (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย