คอแห้งเขา

Carallia suflruticosa Ridl.

ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม สลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก ประกบหุ้มยอดหรือปลายกิ่ง ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ดอกเล็ก สีขาวหรือสีขาวอมชมพู ก้านดอกสั้นมากหรือเห็นไม่ชัด ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ สุกสีแดงอมน้ำตาล เมล็ด ๑ เมล็ด รูปขอบขนานสีน้ำตาล

คอแห้งเขาเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๓ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๓-๖.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบคล้ายรูปลิ่มถึงมน ขอบหยักซี่ฟันเล็กถึงจักเรียวเป็นครุย แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยง เป็นมัน สีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๓ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. ประกบหุ้มยอดหรือปลายกิ่ง ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกแยกแขนงออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ช่อยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๕ มม. ดอกเล็ก ก้านดอกสั้นมากหรือเห็นไม่ชัด ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ยาวประมาณ ๒ มม. โค้งคล้ายท้องเรือ ติดทน กลีบเลี้ยงยาว ๓-๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕-๗ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านบนมีขนสั้น ติดทนจนเป็นผลกลีบดอกสีขาวหรือสีขาวอมชมพู มี ๕-๗ กลีบ รูปคล้ายหัวลูกศร กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายเว้า โคนสอบแคบ เกสรเพศผู้มีจำนวนเป็นสองเท่าของจำนวนกลีบดอก ติดทน มักยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูยาว ๓-๔ มม. อับเรณูเล็ก รูปไข่ จานฐานดอกมีขอบเป็นคลื่น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑๐-๑๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ๔-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. สุกสีแดงอมนํ้าตาล เมล็ด ๑ เมล็ด รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สีน้ำตาล

 คอแห้งเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบน้อยมากและพบตามพื้นที่ราบตํ่าที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย

 ประโยชน์ ใบใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คอแห้งเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Carallia suflruticosa Ridl.
ชื่อสกุล
Carallia
คำระบุชนิด
suflruticosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์