คล้า

Schumannianthus dichotomus (Roxb.) Gagnep.

ชื่ออื่น ๆ
ก้านพร้า(กลาง); บูแมจี่จ๊ะไอย์ (มลายู-ปัตตานี); เบอร์แม (มลายู-นราธิวาส); แหย่ง (เหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้า ลำต้นเหนือดินขึ้นเป็นกอ ตอนปลายแตกกิ่งตามข้อจำนวนมาก ใบเดี่ยวเรียงสลับระนาบเลียวตามปลายกิ่ง รูปรี ช่อดอกแบบ ช่อเชิงลดแยกแขนง รูปแถบ ออกทีปลายกิ่ง ดอกสีขาว ออกเป็นคู่บนแกนแขนงช่อ ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายพีระมิด เมล็ดรูปทรงกลม ผิวเรียบ เยื่อหุ้ม เมล็ดมีรยางค์ยาว

คล้าเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้า สูงได้ถึง ๒.๕ ม. ลำต้นเหนือดินขึ้นเป็นกอ ทรงกระบอก สีเขียว เกลี้ยงเป็นมัน ตอนปลายแตกกิ่งตามข้อจำนวนมาก กาบหุ้มข้อรูปใบหอกแคบ มักแห้งและเปลี่ยนเป็นสีฟางอย่างรวดเร็ว

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวตามปลายกิ่ง รูปรี กว้าง ๒.๘-๖.๗ ซม. ยาว ๕.๘-๑๔ ซม. ปลายแหลมโคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ก้านใบยาวได้ถึง ๑๒.๕ ซม. มักแผ่ออกเป็นกาบเฉพาะตรงส่วนโคนหรือตลอดแนวก้าน

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง รูปแถบ ออกที่ ปลายกิ่ง ๑-๒ ช่อ ตั้งขึ้นหรือโค้งห้อยลง ยาวได้ถึง ๓๘ ซม. ใบประดับรูปใบหอกแคบ ยาว ๓-๔ ซม. ม้วนเป็นหลอดหุ้มแกนช่อดอก ร่วงง่าย แกนคู่ดอกสีขาว ยาว ๑.๗-๒.๖ ซม. มีต่อมนํ้าหวานรูปไข่ ๒ ต่อม สีนํ้าตาล ขนาดเล็ก แต่ละแกนคู่ดอกมีดอก ๒ ดอก สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๔ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบดอก ๓ กลีบ รูปขอบขนานปลายมนหรือแหลม


ยาว ๒.๖-๓ ซม. โคนกลีบเชื่อมติดกับหลอดเกสรเพศผู้ หลอดเกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๒.๖ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ลดรูปหายไป ๑ เกสร เหลือเพียง ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒.๔ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๔ เกสร มี ๒ เกสรที่คล้ายกลีบดอก รูปไข่กลับ กว้างและยาว ๑.๕-๒ ซม. อีก ๑ เกสร ครอบอยู่บนยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายหมวก สีขาว ปลายสีเหลืองอ่อน กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๖.๓ มม. ที่เหลืออีก ๑ เกสร มีขนาดเล็กแต่อวบหนา ยาวประมาณ ๑.๒ มม. รังไข่ อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแผ่เป็นแผ่นแบน ปลายโค้งงอ

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายพีระมิด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. เมล็ดมี ๒-๓ เมล็ด รูปทรงกลม ผิวเรียบ มีเยื่อหุ้มเมล็ดทรงกรวยสีขาวเห็นเด่นชัด มีรยางค์ยาว

 คล้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นตามที่ตํ่าริมห้วยหรือในหนองนํ้าที่มีแดดจัดตลอดวัน ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีนจนถึงเกาะบอร์เนียว

 ประโยชน์ เปลือกของลำต้นเหนือดินมืความเหนียวและทนทาน นิยมใช้ในงานจักสานหยาบ ๆ เช่น เสื่อ ต้นนิยมปลูกเป็นไม้นํ้าประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คล้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Schumannianthus dichotomus (Roxb.) Gagnep.
ชื่อสกุล
Schumannianthus
คำระบุชนิด
dichotomus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Gagnepain, François
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Gagnepain, François (1866-1952)
ชื่ออื่น ๆ
ก้านพร้า(กลาง); บูแมจี่จ๊ะไอย์ (มลายู-ปัตตานี); เบอร์แม (มลายู-นราธิวาส); แหย่ง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน