คลุ้ม

Donax canniformis (G. Forst.) K. Schum.

ชื่ออื่น ๆ
กะเตียง (มอร์แกน-พังงา); คลุ่ม (ทั่วไป); แหย่ง (เหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้า ลำต้นเหนือดินขึ้นเป็นกอ ตอนปลายแตกกิ่งจำนวนมาก ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวตามปลายกิ่ง รูปไข่ถึงรูปรี ช่อดอกแบบช่อเชิงลด รูปแถบ แยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งดอกสีขาวถึงขาวนวล ออกเป็นคู่บนแกนคู่ดอกผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมสุกสีขาว เมล็ดรูปทรงรี ผิวขรุขระ เยื่อหุ้มเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ไม่มีรยางค์

คลุ้มเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้า ลำต้นเหนือดินขึ้นเป็นกอ สูงได้ถึง ๕ ม. แต่ละต้นรูปทรงกระบอกสีเขียว เกลี้ยงเป็นมัน ตอนปลายแตกกิ่งจำนวนมากกาบหุ้มข้อรูปใบหอกแคบ มักแห้งและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมนํ้าตาลอย่างสีฟาง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวตามปลายกิ่งรูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๗.๕-๑๘ ซม. ยาว ๑๕-๓๑.๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ ด้านบนสีเขียวด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ก้านใบยาวได้ถึง ๒๐ ซม. แผ่ออกเป็นกาบเฉพาะตรงส่วนโคนหรือตลอดแนวก้าน

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด รูปแถบ แยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ๒-๑๐ ช่อ ตั้งขึ้นหรือโค้งห้อยลง ยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ใบประดับรูปใบหอกแคบ ยาวได้ถึง ๖.๕ ซม. ม้วนเป็นหลอดหุ้มแกนช่อดอก ร่วงง่าย แกนคู่ดอกสีขาวยาว ๒.๖-๓.๕ ซม. มีต่อมนํ้าหวานรูปไข่ ๒ ต่อม ขนาดเล็ก สีนํ้าตาล แต่ละแกนคู่ดอกมีดอก ๒ ดอก


สีขาวถึงขาวนวล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๓.๒ มม. กลีบดอก ๓ กลีบ รูปขอบขนานปลายแหลม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๗ มม. หลอดเกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ลดรูปหายไป ๑ เกสร เหลือเพียง ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๕ มม. อับเรณูยาว ๑ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๔ เกสร มี ๒ เกสรที่คล้ายกลีบดอก รูปไข่กลับ สีขาว กว้าง ๓-๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. อีก ๑ เกสร ครอบอยู่บนยอดเกสรเพศเมีย รูปคล้ายหมวก สีเหลืองที่เหลืออีก ๑ เกสร มีขนาดเล็กแต่อวบหนา ยาวประมาณ ๗ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียปลายโค้งงอ

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ ซม. สุกสีขาว เมล็ดรูปทรงรี มี ๑-๒ เมล็ด ยาวประมาณ ๗ มม. ผิวเรียบ ๑-๒ ด้าน อีกด้านหนึ่งโค้งเป็นหลังเต่า และเป็นร่องขรุขระ เยื่อหุ้มเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ไม่มีรยางค์

 คลุ้มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคมักพบขึ้นตามริมห้วยในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก

 คลุ้มมีลักษณะทั่วไปคล้ายคล้า [Schumannianthus dichotomus (Roxb.) Gagnep.] แต่คลุ้มมีใบใหญ่กว่า ช่อดอกแยกแขนงจำนวนมากกว่า ดอกเล็กกว่า และมักขึ้นในที่ร่มรำไร

 ประโยชน์ เปลือกของลำต้นเหนือดินมีความเหนียวทนทานและยืดหยุ่นกว่าคล้า นิยมใช้ในงานจักสานที่มีส่วนโค้งงอ เช่น กระบุง ตะกร้า ในพังงาใช้ใบห่อขนม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คลุ้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Donax canniformis (G. Forst.) K. Schum.
ชื่อสกุล
Donax
คำระบุชนิด
canniformis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forster, Johann Georg Adam
- Schumann, Karl Moritz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Forster, Johann Georg Adam (1754-1794)
- Schumann, Karl Moritz (1851-1904)
ชื่ออื่น ๆ
กะเตียง (มอร์แกน-พังงา); คลุ่ม (ทั่วไป); แหย่ง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน