คริสต์มาส

Euphorbia pulcherrima Wind, ex Klotzsch

ชื่ออื่น ๆ
บานใบ (เหนือ); โพผัน, สองฤดู (กรุงเทพฯ)
ไม้พุ่ม ทุกส่วนมียางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปไข่แกมรูปรี ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อรูปถ้วย ออกเป็นกลุ่มที่ยอดคล้ายช่อซี่ร่ม ใบประดับคล้ายใบ สีแดง ดอกเพศผู้มีจำนวนมาก แต่ดอกเพศเมียมี ๑ ดอก ผลไม่พบ

คริสต์มาสเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. มีขนสีน้ำตาลอ่อน ทุกส่วนมียางสีขาว มีรากสะสมอาหารเปลือกเรียบ สีนํ้าตาลอ่อน กิ่งอ่อนกลวง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๖-๙ ซม. ยาว ๑๒-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน แล้วเรียวแหลม ขอบใบจากโคนใบถึงกึ่งกลางใบเรียบ ยกเว้นกึ่งกลางใบถึงปลายใบมีหยักห่าง ๆ ๒-๓ หยัก เส้นแขนงใบข้างละ ๑๖-๑๗ เส้น ก้านใบยาว ๕-๗ ซม. หูใบเป็นเกล็ดเล็ก ๆ ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อรูปถ้วยออกเป็นกลุ่มที่ยอดคล้ายช่อซี่ร่ม ใบประดับคล้ายใบแต่เล็กกว่า สีเขียว เส้นกลางใบสีแดงหรือสีแดงล้วนมีจำนวนมาก ก้านช่อยาว ๔-๕ มม. ริ้วใบประดับ ยาวประมาณ ๕ มม. ขอบด้านบนมีต่อมสีเหลือง ๑ ต่อม กว้างประมาณ ๕ มม. ดอกเพศผู้มีจำนวนมาก มีก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้ ๑ เกสร ดอกเพศเมียมี ๑ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงเป็น ๓ หยักเล็ก ๆ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอกรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี (๒-)๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมีย ๓ ยอด แต่ละยอดแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลยังไม่พบ

 คริสต์มาสเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดที่เม็กซิโก นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ พบขึ้นในที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ปัจจุบันมีการปลูกทั่วไปในเขตร้อน และเขตกึ่งร้อนทั่วโลก

 ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ใบอ่อนชาวชวากินเป็นผัก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คริสต์มาส
ชื่อวิทยาศาสตร์
Euphorbia pulcherrima Wind, ex Klotzsch
ชื่อสกุล
Euphorbia
คำระบุชนิด
pulcherrima
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Klotzsch, Johann Friedrich
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Klotzsch, Johann Friedrich (1805-1860)
ชื่ออื่น ๆ
บานใบ (เหนือ); โพผัน, สองฤดู (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์