ครามเถา

Marsdenia tinctoria (Roxb.) R. Br.

ชื่ออื่น ๆ
เบิก (เชียงใหม่); เบือก (เลย)
ไม้เถา ทุกส่วนมียางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกระหว่างก้านใบ ดอกสีนวลหรือสีนวลแกมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มักออกเป็นคู่ รูปทรงกระบอก เมล็ดเล็กทรงรูปไข่ ปลายด้านหนึ่งมีขนยาวเป็นพู่สีขาว

ครามเถาเป็นไม้เถา ทุกส่วนมียางสีขาวเถา เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๓.๕-๙ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ก้านใบเรียวยาว ๑.๒-๔ ซม. มีขน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกระหว่างก้านใบยาว ๔-๑๒ ซม. ช่อดอกย่อยมีก้านสั้น เรียงตัวเป็นกระจุกค่อนข้างถี่บนแกนช่อดอก ก้านดอกสั้น เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ ด้านนอกมีขน กลีบดอกสีนวลหรือสีนวลแกมเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ลึกประมาณ ๑ ใน ๓ ของความยาวดอก ปลายแฉกมน โคนแฉกด้านในมีขน เส้าเกสรรูปโดม รยางค์ ๕ อัน รูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวกลม เรียงในแนวตั้งแนบกับเกสรเพศผู้ กลุ่มเรญรูปรี เรียงในแนวตั้งรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ คู่ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียแผ่แบนเป็นรูปห้าเหลี่ยม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มักออกเป็นคู่รูปทรงกระบอก กว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ปลายเรียว เมื่อแก่แตกแนวเดียว เมล็ดเล็ก ทรงรูปไข่แบน ปลายด้านหนึ่งมีขนยาวเป็นพู่สีขาว

 ครามเถามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทั่วทุกภาค พบขึ้นในที่โล่งแจ้ง ตามชายป่า ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกันยายนในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เคยมีการปลูกเพื่อนำใบมาทำสีย้อมผ้าได้สีนํ้าเงินคล้ายกับสีที่ได้จากคราม (Indigofera spp.) มีรายงานการใช้ใบเป็นยาย้อมผมและกระตุ้นให้ผมดกใช้ใบกินเป็นยารักษาระบบลำไส้ ในบังกลาเทศใช้น้ำคั้นจากครามเถาทำให้เกิดการแท้งลูก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ครามเถา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Marsdenia tinctoria (Roxb.) R. Br.
ชื่อสกุล
Marsdenia
คำระบุชนิด
tinctoria
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Brown, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Brown, Robert (1773-1858)
ชื่ออื่น ๆ
เบิก (เชียงใหม่); เบือก (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง