ครามเขา

Indigofera lacei Craib

ไม้พุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนใบย่อย ๕-๓๑ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงผลแบบผลแห้งแตกตองแนว รูปแถบ เมล็ดเล็ก สีน้ำตาล

ครามเขาเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒.๕ ม. กิ่งอ่อนใบและช่อดอกมีขนรูปตัวที (T) ปลายทั้ง ๒ ข้างของขนขนาดใกล้เคียงกัน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๕-๒๐ ซม. ก้านใบยาว ๗-๑๒ ซม. หูใบเรียว ยาวประมาณ ๑ มม. ใบย่อย ๕-๓๑ ใบ เรียงตรงข้ามรูปรี กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ปลายมนโคนสอบ มีขนสั้นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัดก้านใบย่อยสั้นมาก หูใบย่อยเรียว เล็กมาก

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๔-๒๕ ซม. ก้านช่อยาว ๑-๒ ซม. ใบประดับเรียว ยาว ๑-๒ มม. ดอกรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๒-๓ มม. มีขน โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดใกล้เคียงกัน กลีบดอก ๕ กลีบ สีม่วง กลีบกลางรูปรี กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. ด้านนอกมีขนสั้น กลีบคู่ข้างโคนเรียบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายรูปขอบขนานและโค้ง ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือ ยาวใกล้เคียงกับกลีบคู่ข้าง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เชื่อมติด ๒ กลุ่ม โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบเรียวเล็ก มีขนประปราย มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวโค้ง เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. เมื่อแก่แตกตามรอยประสานเป็น ๒ ซีก เมล็ดเล็ก มี ๖-๑๐ เมล็ด สีนํ้าตาล

 ครามเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นในป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๙๐๐-๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ครามเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Indigofera lacei Craib
ชื่อสกุล
Indigofera
คำระบุชนิด
lacei
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม