คนางขนแดง

Psychotria prainii H. Lév.

ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนมีขนกำมะหยี่มีน้ำตาลแดงใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอก ผู้ใบ ระหว่างก้านใบรูปไข่ ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกที่ยอด ดอกสีขาวอมเขียว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่ มีกลีบเลี้ยงติดทนเป็นวงที่ปลาย เมล็ดแบนทางด้านใน มี ๒ เมล็ด

คนางขนแดงเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๕๐ ซม. กิ่งอ่อนมีขนกำมะหยี่สีนํ้าตาลแดง กิ่งแก่เกลี้ยง เปลือกสีนํ้าตาลอ่อนเป็นร่อง รากใหญ่ หนาและแข็ง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๗-๑๓ ซม. ปลายแหลม โคนสอบขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น โค้งขึ้นเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัดก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนกำมะหยี่ หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ยอด ก้านช่อดอกสั้นมาก ดอกสีขาวอมเขียว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านนอกมีขนหยาบแข็ง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๔ มม. ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง มีขนกำมะหยี่หนาแน่นที่คอหลอดดอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแฉกด้านนอกมีขนกำมะหยี่ เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูส้้นมาก อับเรณูยาวโผล่พ้นหลอดกลีบดอกขึ้นมาเล็กน้อย จานฐานดอกอยู่ที่ส่วนบนของรังไข่ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ค่อนข้างตั้งตรง

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนเป็นวงที่ปลาย เมล็ดแบนทางด้านใน มี ๒ เมล็ด

 คนางขนแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ ๖๖๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คนางขนแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Psychotria prainii H. Lév.
ชื่อสกุล
Psychotria
คำระบุชนิด
prainii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Léveillé, Augustin Abel Hector
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1863-1918)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต