คนทีเขมา

Vitex negundo L.

ชื่ออื่น ๆ
กุโนกามอ (มลายู-ปัตตานี); กูนิง (มลายู-นราธิวาส)
ไม้พู่ม กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบย่อย ๕ ใบ รูปรี รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุกดอกสีน้ำเงิน ม่วง ชมพู หรือขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม สุกสีดำ เมล็ดเล็ก ทรงรูปไข่

คนทีเขมาเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๔.๕(-๘) ม. เปลือกบาง ค่อนข้างเรียบ สีเทา กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นสีขาวหนาแน่น

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากมีใบย่อย ๕ ใบ ที่ปลายกิ่งมักมีใบย่อย ๓ ใบ ใบสดมีกลิ่น ก้านใบยาว ๒.๕-๘ ซม. ใบย่อยรูปรี รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนสอบขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ตรงกลางขอบใบด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ด้านล่างมีขนสั้นกระจัดกระจายและมีมากตามเส้นใบ ใบย่อยใบกลาง


กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๑-๒.๕ ซม. ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างมีขนาดเล็กกว่าและก้านใบสั้นกว่าลดหลั่นกันไปตามลำดับ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกที่ยอด ยาว ๕-๒๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ยาว ๒-๑๓ ซม. มีขนสั้นสีขาวหนาแน่น ดอกเล็ก กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายหยักซี่ฟันเล็ก ๆ ๕ หยัก กลีบดอกสีนำเงิน ม่วง ชมพูหรือขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๕ มม. ด้านในของหลอดกลีบดอกมีขนยาวสีขาวหนาแน่น ด้านนอกมีขนสั้น ๆ สีขาว ปลายหลอดเป็นรูปปากเปิด แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบนมีแฉกเล็ก ๆ ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายมนยาว ๑-๒ มม. ซีกล่างหยักลึกเป็น ๓ แฉก แฉกกลางใหญ่สุด รูปไข่กลับ ยาว ๔-๕ มม. มีขนยาวสีขาวเป็นกระจุก


แฉกด้านข้างอีก ๒ แฉก รูปไข่ ขนาดไล่เลี่ยกันยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน โคนติดอยู่ด้านในบริเวณกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณู ยาว ๔-๕ มม. ด้านล่างมีขนยาวสีขาว อับเรณูสีม่วง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีผนังเทียมกั้น มีออวุลช่องละ ๑ เม็ด รวม ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยก เป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. มีวงกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่เกือบมิดผล ผลสุกสีดำ เมล็ดเล็ก ทรงรูปไข่ แข็ง มี ๔ เมล็ด

 คนทีเขมาเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแซนซิบาร์ โมซัมบิก และมาดากัสการ์ นำเข้ามาปลูกทั่วไปในประเทศไทย และแพร่กระจายพันธุ์ตามที่ชื้นพบทั่วไปในเอเชียเขตร้อน

 ประโยชน์ ทั้งต้นใช้แก้โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ใบแก้ปวดศีรษะ แก้ท้องเสีย แก้โรคเหน็บชา แก้อาการบวมนํ้า ขับลม ขับน้ำนม และขับระดู เมล็ดใช้แก้ไข้ บำรุงกำลัง และขับเสมหะ ใบมีน้ำมันระเหยง่าย เรซิน อิริดอยด์ และแอลคาลอยด์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คนทีเขมา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vitex negundo L.
ชื่อสกุล
Vitex
คำระบุชนิด
negundo
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กุโนกามอ (มลายู-ปัตตานี); กูนิง (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย