คนทีดิน

Uraria rufescens (DC.) Schindl.

ไม้ล้มลุกเป็นพุ่มหรือเป็นพุ่มกึ่งทอดเลื้อยส่วนที่ยังอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง ใบประกอบแบบขนนก ชั้นเดียวปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย (๑-)๓ ใบ รูปรี รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน หูใบเรียวแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงแกมน้ำเงินอ่อนผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักหักพับและคอดระหว่างเมล็ด เมล็ดเล็ก สีน้ำตาล รูปค่อนข้างกลม แบนทางด้านข้าง

คนทีดินเป็นไม้ล้มลุกเป็นพุ่มหรือเป็นพุ่มกึ่งทอดเลื้อย สูงหรือยาวได้ถึง ๑.๕ ม. ลำต้นสีเขียวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. ค่อนข้างเป็นรูปทรงกระบอก หรือเป็นสัน ๔ สันตามยาว มีขนประปรายถึงค่อนข้างหนาแน่น และปลายขนมักโค้งงอ ส่วนที่ยังอ่อนมีขนสีนํ้าตาลแดง เนื้อในอ่อนคล้ายเยื่อสีขาว

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงเวียนมีใบย่อย (๑-)๓ ใบ เรียงตรงข้ามยกเว้นใบยอด รูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๑๕ ซม. ใบย่อยใบปลายมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยคู่ข้างมาก ปลายใบแหลม มน หรืออาจเว้าเข้าเล็กน้อย โคนมนถึงค่อนข้างกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เมื่ออ่อนมีขนรูปตะขอและเกล็ดสีนํ้าตาลค่อนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ค่อนข้างตรงและขนานกันเส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบ ยาว ๑-๓ ซม. มีขนหนาแน่น หูใบเรียวแหลม อยู่สองข้างของโคนก้านใบ ยาว ๑-๑.๕ ซม. ส่วนโคนก้านใบย่อย มีหูใบลักษณะคล้ายกัน ยาว ๐.๕-๑ ซม. ร่วงง่ายและมีขนละเอียดหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะเชิงประกอบออกตามปลายกิ่ง ช่อยาว ๑๐-๓๐ ซม. มักแยกแขนงใกล้บริเวณโคนช่อ มีขนค่อนข้างหนาแน่น ใบประดับรูปไข่ แกมรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นทางด้านนอกและตามขอบ ร่วงง่าย ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงแกมนํ้าเงินอ่อนออกตามซอกใบประดับ ซอกละ (๑-)๒-๓ ดอก ขนาดรวมกว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกเรียวแหลม ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน โคนแฉกสีเขียว ส่วนที่ค่อนมาทางปลาย สีขาวแกมม่วง กลีบดอก ๕ กลีบ มีกลีบกลางและกลีบ ข้างสีม่วงเข้ม กลีบกลางรูปไข่กลับ มีแถบสีเหลือง ๒ แถบบริเวณก้านกลีบด้านใน กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานกลีบคู่ล่างสั้นกว่ากลีบอื่น ขอบด้านล่างเชื่อมติดกันคล้ายกระทง สีขาวแกมชมพู เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกเป็น ๒ กลุ่ม มีเกสร ๙ เกสร โคนเชื่อมติดกันคล้ายหลอด ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแยกเป็นก้านชูอับเรณู สีม่วงแกมแดง อีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ มีก้านชูรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายรูปแถบแบน คอดเป็นข้อและบิดคดไปมา กว้างไม่เกิน ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนคลุม มี ๑ ช่อง ออวุล ๓-๕(-๘) เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสีม่วง หักโค้งขึ้นทำมุมกับรังไข่เกือบ ๙๐ องศา และส่วนที่เป็นก้านยอดยาวกว่ารังไข่ ยอดเกสรเพศเมียเป็นติ่งกลม

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักหักพับและคอดระหว่างเมล็ด จำนวน ๓-๕(-๘) เปลาะ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ผิวย่นและมีขนประปราย เมล็ดเล็ก มี ๓-๕(-๘) เมล็ด สีนํ้าตาล รูปค่อนข้างกลม แบนทางด้านข้าง ผิวย่น

 คนทีดินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าไผ่ใกล้เขาหินปูน ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๓๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ ในประเทศเวียดนามใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คนทีดิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Uraria rufescens (DC.) Schindl.
ชื่อสกุล
Uraria
คำระบุชนิด
rufescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de
- Schindler, Anton Karl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
- Schindler, Anton Karl (1879-1964)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม และ นางสาวนันทวรรณ สุปันตี