ข้าวโอ๊ต

Avena sativa L.

ไม้ล้มลุกปีเดียว ใบเรียงสลับ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอด ช่อดอกย่อย รูปขอบขนาน ห้อยลง มีดอกย่อย ๓ ดอก ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปรี ยาวประมาณ ๑ ซม. มีกาบ ๒ กาบหุ้ม

ข้าวโอ๊ตเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูง ๐.๖-๑.๕ ม. เป็นปล้อง ปล้องที่ยืดตัวแล้วในระยะแรก ๆ จะตัน แต่พอรวงแก่ปล้องจะกลวง บริเวณข้อเกลี้ยงหรือมีขน

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๑๔-๓๐ ซม. ปลายแหลม ขอบเกลี้ยงหรือมีขน ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมน ไม่มีติ่งใบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ช่อดอกย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๑๕-๒๗ มม. ห้อยลง มีก้านยาวไม่เท่ากัน กาบ ๒ กาบรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายแหลม มีเส้นตามยาว ๗-๑๑ เส้น กาบบนใหญ่กว่ากาบล่างเล็กน้อย มีดอกย่อย ๓ ดอก ดอกบนสุดหรือดอกที่ ๓ มีเพียงกาบ ๒ กาบ ดอกล่างดอกที่ ๑ และดอกที่ ๒ ลักษณะเหมือนกัน แต่ดอกที่ ๑ ใหญ่กว่าและมักมีรยางค์แข็งออกจากกลางกาบล่างด้านหลัง กาบรูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เนื้อคล้ายกระดาษมีเส้นตามยาว ๕-๙ เส้น กลีบเกล็ด ๒ อัน ปลายแหลม เกสรเพศผู้ ๓ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น มี ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียยาว มีขนยาวนุ่ม

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑๐ มม. ด้านสันหลังโค้งเล็กน้อยส่วนด้านท้องเป็นร่อง มีกาบ ๒ กาบหุ้ม

 ข้าวโอ๊ตมีถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอเรเนียน แพร่กระจายพันธุ์ไปตั้งแต่ครั้งโบราณพร้อม ๆ กับข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์สู่ทวีปยุโรปและแพร่ต่อไปยังเขตอากาศหนาวเย็นทั่วโลก ในประเทศไทยสามารถปลูกข้าวโอ๊ตได้บริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีช่วงการปลูกถึงเก็บเกี่ยวระหว่างกลางเดือนตุลาคมถึงปลายกุมภาพันธ์ ชอบดินร่วนปนทรายและไม่เป็นกรด มีสารอินทรีย์ปานกลาง ปลูกในไร่ไม่มีน้ำขัง เดิมทีนั้นชาวยุโรปตอนใต้ปลูกข้าวโอ๊ตเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบันปลูกเป็นอาหารสำหรับคนด้วย ทั้งนี้ เพราะข้าวโอ๊ตมีไขมันและโปรตีนสูง ผลผลิตข้าวโอ๊ตร้อยละ ๙๐ ได้มาจากยุโรป สหภาพโซเวียต และอเมริกาเหนือ ข้าวโอ๊ตบดทำมาจากข้าวโอ๊ตกล้อง มีโปรตีนร้อยละ ๑๖.๗ ข้าวโอ๊ตบด ๒๓๕ ก. ให้พลังงาน ๑๕๐ แคลอรี คาร์โบไฮเดรต ๒๖ ก. เหล็ก ๑.๗ มก. แคลเซียม ๒๑ มก. ฟอสฟอรัส ๑๔๐ มก. โพแทสเซียม ๑๔๒ มก. โซเดียม ๕๐๘ มก. วิตามินบี ๑ ๐.๒ มก. ไนอะซีน ๑๘ มก. และอิโนซิทอล ๓๐ มก. นอกจากเป็นอาหารของคนและสัตว์แล้ว แป้งยังมีสารป้องกันการเหม็นหืนในอาหารที่มีไขมัน ดังนั้นจึงนิยมใช้แป้งโรยบนเนย ถั่วลิสงทอด หรือของทอดอื่น ๆ ทั้งยังโรยบนกระดาษที่จะห่อของมีมัน แป้งข้าวโอ๊ตใช้ผสมไอศกรีมและผลิตภัณฑ์นมบางชนิด ฟางข้าวโอ๊ตเป็นอาหารสัตว์ที่ดี แกลบข้าวโอ๊ตมี pentosans ร้อยละ ๓๒-๓๖ เซลลูโลสร้อยละ ๓๕ และลิกนินร้อยละ ๑๐-๑๕ ใช้ผลิต furfural ซึ่งเป็นของเหลวไม่มีสี ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสีย้อมและพลาสติก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวโอ๊ต
ชื่อวิทยาศาสตร์
Avena sativa L.
ชื่อสกุล
Avena
คำระบุชนิด
sativa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.พัธกุล จันทนมัฏฐะ และ นางชุมศรี ชัยอนันต์