ข้าวเย็นเลย

Smilax corbularia Kunth subsp. synandra (Gagnep.) T. Koyama

ไม้เถาเนื้อแข็ง เหง้ารูปทรงกระบอก เถาและกิ่งสี่เหลี่ยมเป็นสันแหลมคล้ายครีบหรือสันมน ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่โคนก้านใบเป็นกาบ มีปีกบาง มีติ่ง มือพันออกเป็นคู่ที่ปลายของกาบใบบนเถาและกิ่งที่ไม่มีดอก ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกเดี่ยวตามข้อ ดอกเพศผู้สีแดง ดอกเพศเมียสีเขียวถึงสีเหลือง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม สุกสีม่วงดำ เมล็ดมี ๑-๓ เมล็ด สีน้ำตาลดำ

ข้าวเย็นเลยเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เหง้ารูปทรงกระบอก กว้าง ๓-๔ ซม. ยาวได้ถึง ๑๒ ซม. ผิวย่น สีน้ำตาลอมแดงเข้ม ภายในสีนวลถึงสีน้ำตาลอ่อน เถาและกิ่งสี่เหลี่ยมเป็นสันแหลมคล้ายครีบหรือสันมน เถายาว ๒-๔ ม. ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน กิ่งค่อนข้างตรง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่างกัน ๓-๑๐ ซม. รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๑.๒-๗ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายมนหรือค่อนข้างแหลมหรือบางครั้งเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม มน หรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ สีเขียวสด ด้านบนค่อนข้างเป็นมันด้านล่างมีนวล เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น เห็นค่อนข้างชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแหห่าง ๆ เห็นไม่ชัดทางด้านล่างก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. งอโค้งขึ้น ตอนโคนเป็นกาบ ยาว ๒.๕-๕ มม. ปีกบาง กว้างประมาณ ๐.๕ มม. สีน้ำตาลเข้มมีติ่งกาบยาว ๑.๕-๓ มม. มือพันยาว ๖-๙ ซม. ออกเป็นคู่ที่ปลายของกาบใบบนเถาและกิ่งที่ไม่มีดอก กิ่งที่มีดอกยาว ๕-๒๐ ซม. ไม่มีมือพัน มีปุ่มปม ๕-๑๐ ปุ่ม ใบทั้งหมดหรือเฉพาะใบที่อยู่ส่วนปลายของกิ่งที่มีดอกลดรูปคล้ายใบประดับ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกเดี่ยวตามข้อทุกข้อหรือเฉพาะ ๓-๖ ข้อจากปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. ทั้งช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียมี ๑๐-๒๐ ดอก กลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ใบประดับย่อยรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน ก้านดอกยาว ๒-๗ มม. ดอกเพศผู้สีแดง กลีบรวมหนา กลีบรวมชั้นนอกเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ มม. ปลายม้วนเข้า กลีบรวมชั้นในรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายมน ม้วนออกเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. เชื่อมติดกันเป็นหลอดและเชื่อมติดกับกลีบรวมชั้นใน อับเรณูรูปรี ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ดอกเพศเมียสีเขียวถึงสีเหลือง รูปลูกข่างกลีบรวมชั้นนอกรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๒ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายค่อนข้างแหลม กลีบรวมชั้นในรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๗ มม. สั้นกว่ากลีบชั้นนอกเล็กน้อย ปลายมน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๓ เกสร รูปเข็ม ยาวประมาณ ๑.๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ พู

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. สุกสีม่วงดำ เมล็ดมี ๑-๓ เมล็ด สีน้ำตาลดำ

 ข้าวเย็นเลยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นในที่รกร้าง เนินทุ่งหญ้า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนมกราคม ในต่างประเทศพบที่จีนและเวียดนาม

 ประโยชน์ เหง้ามีสารประกอบประเภทสเตียรอยด์ เช่น smilagenin และแซโพนิน เช่น smilacin ใช้เป็นสมุนไพรเข้ายาที่ใช้บำบัดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แก้น้ำเหลืองเสียในโรคซิฟิลิส ใช้ในโรคผิวหนัง ขับเหงื่อ และเป็นยาบำรุง

 ข้าวเย็นเลยมีลักษณะคล้ายข้าวเย็นเหนือชนิด Smilax corbularia Kunth subsp. corbularia ต่างกันที่ข้าวเย็นเลยมีเถาและกิ่งสี่เหลี่ยมเป็นสันแหลมคล้ายครีบหรือสันมน เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด และเชื่อมติดกับกลีบรวมชั้นใน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวเย็นเลย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Smilax corbularia Kunth subsp. synandra (Gagnep.) T. Koyama
ชื่อสกุล
Smilax
คำระบุชนิด
corbularia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kunth, Karl (Carl) Sigismund
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. synandra
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Gagnep.) T. Koyama
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1788-1850)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย