ข้าวหลาม

Goniothalamus marcanii Craib

ชื่ออื่น ๆ
ข้าวหมาก, ข้าวหลามเล็ก (กรุงเทพฯ); จำปีหิน (ชุมพร); นมงัว (ปราจีนบุรี)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ดอกมีกลิ่นเหมือนข้าวหมาก ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สุกสีแดง มี ๑ เมล็ด

ข้าวหลามเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งต่ำเป็นพุ่มเล็กๆ กิ่งอ่อนยาวและมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เปลือกสีน้ำตาลอมดำ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๖ ซม. ยาว ๑๐-๑๒ ซม. ปลายแหลมและมีติ่งสั้น โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบเป็นร่องด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกัน เส้นใบย่อยแบบเส้นร่างแห โคนก้านป่อง มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือตามลำต้นเหนือรอยแผลใบ ดอกรูปสามเหลี่ยมห้อยลง มีกลิ่นเหมือนข้าวหมาก ก้านดอกยาว ๔-๕ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่กว้างและยาวประมาณ ๖ มม. ด้านนอกมีขน ด้านในไม่มีขน กลีบดอก ๖ กลีบ หนา สีเขียวอมเหลือง เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกรูปใบหอก กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๒-๒.๖ ซม. มีสันนูนกลางกลีบตามแนวยาว กลีบชั้นในประกบเป็นแท่งสามเหลี่ยม สูง ๕-๘ มม. เกสรเพศผู้รูปแท่ง ๒๕-๓๐ อัน อับเรณู ๔ พู เกสรเพศเมียจำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ สีเหลือง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด มี ๘-๒๐ ผล รูปรี สีเขียว สุกสีแดง ผิวเรียบเป็นมันวาว และมีติ่งแหลมที่ปลายผล ขนาดกว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านผลยาวประมาณ ๑ ซม. มีเมล็ด ๑ เมล็ด รูปกลมรี สีเทา กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. เมล็ดมีเมือกหนาคล้ายวุ้นหุ้ม

 ข้าวหลาม มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ตามป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐-๔๐๐ ม. เป็นพืชชั้นล่างที่ต้องการแสงแดดรำไร ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ผลแก่หลังดอกบาน ๔-๕ เดือน ยังไม่มีรายงานการพบในต่างประเทศ

 เปลือกโคนต้นและแก่นใช้เป็นพืชสมุนไพร เป็นยาดองบำรุงกำลัง เมื่อเผาหรือย่างเปลือกของลำต้นจะมีกลิ่นหอมเหมือนข้าวหลามสุกใหม่ ๆ.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวหลาม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Goniothalamus marcanii Craib
ชื่อสกุล
Goniothalamus
คำระบุชนิด
marcanii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Criaib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
ข้าวหมาก, ข้าวหลามเล็ก (กรุงเทพฯ); จำปีหิน (ชุมพร); นมงัว (ปราจีนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น