ข้าวฟ่าง

Setaria italica (L.) P. Beauv.

ชื่ออื่น ๆ
ฟ่างหางหมา (ใต้)
ไม้ล้มลุกปีเดียว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ช่อดอกย่อยก้านสั้นหรือกึ่งไร้ก้าน ที่โคนมีขนแข็ง ๑-๓ เส้น ขนยาวและติดทน ช่อดอกย่อยมีดอก ๒ ดอก ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ทรงรูปไข่กว้าง สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลแดงหรือสีดำ

ข้าวฟ่างเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ขึ้นเป็นกอ สูง ๐.๖-๑.๗๕ ม. ลำต้นเป็นข้อและปล้อง มีรากที่ข้อโคนต้น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๑๕-๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลม เส้นกลางใบนูน มีขนสาก กาบใบยาว ๑๐-๒๖ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยลิ้นใบสั้น ปลายเป็นชายครุย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด กว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๘-๓๐ ซม. ช่อมักโค้งลง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๕๐ ซม. แกนกลางช่อดอกเป็นสัน มีขนครุย แขนงช่อดอกสั้น แต่ละแขนงมีช่อดอกย่อย ๖-๑๒ ช่อ ช่อดอก



ย่อยก้านสั้นหรือกึ่งไร้ก้าน ที่โคนมีขนแข็ง ๑-๓ เส้น ยาว ๐.๓-๑.๔ ซม. ติดทน ช่อดอกย่อยรูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒.๒ มม. กาบของช่อดอกย่อยบาง มี ๒ กาบ กาบล่างยาวประมาณ ๑ มม. มีเส้นตามยาว ๓ เส้น กาบบนยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีเส้นตามยาว ๕ เส้น ช่อดอกย่อยมีดอก ๒ ดอก ดอกล่างเป็นหมัน กาบล่างบางยาว ๑-๑.๖ มม. มีเส้นตามยาว ๕ เส้น กาบบนไม่มีหรือมีแต่เล็กมาก ดอกบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กาบล่างและกาบบนแข็ง ยาวใกล้เคียงกันประมาณ ๑.๕ มม. มีเส้นตามยาว ๕ เส้น กลีบเกล็ด ๒ กลีบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร อับเรณูสีเหลือง ยาวประมาณ ๐.๖ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่ม

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ทรงรูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง ๒ มม. สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลแดง หรือสีดำ อยู่ภายในกาบ ๒ กาบที่ติดแน่น

 ข้าวฟ่างเป็นพืชปลูกดั้งเดิม พบที่จีน ปัจจุบันปลูกกันทั่วโลก เป็นพืชที่สำคัญของจีน อินเดีย และยุโรปแถบตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปลูกกันบ้างไม่มาก ในประเทศไทยปลูกเล็กน้อยในเขตร้อนปลูกได้บนที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลจนถึง ๒,๐๐๐ ม.

 ข้าวฟ่างเป็นพืชปลูกที่มีความผันแปรมากในหลาย ๆ ลักษณะ เช่น ระยะเวลาที่ต้นแก่ให้ผลผลิต ความสูง ขนาดของต้นและช่อดอก จำนวนสีและความยาวของขนแข็งที่โคนช่อดอกย่อย ตลอดจนสีของผลหรือเมล็ด พันธุ์ปลูกแต่ดั้งเดิมมีลำต้นแข็งแรง แตกแขนงมาก ส่วนพันธุ์ที่ปลูกในปัจจุบันมีลำต้นเดี่ยวและมีช่อดอกใหญ่ มีการจัดจำแนกข้าวฟ่างออกเป็นกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม คือ

 ๑. กลุ่ม Indica ปลูกที่อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถานและเนปาล ลักษณะต้นสูงประมาณ ๑.๒ ม. แตกกอ ประมาณ ๗ แขนง แผ่นใบกว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๓๒ ซม.

 ๒. กลุ่ม Maxima ปลูกแถบตะวันออกไกลจัดเป็นกลุ่มที่พัฒนาใหม่สุด ต้นสูงประมาณ ๘๕ ซม. แตกกอได้ถึง ๓ แขนง แผ่นใบกว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๒๖ ซม.

 ๓. กลุ่ม Moharia เป็นกลุ่มที่ดั้งเดิมที่สุดพบปลูกที่ยุโรป รัสเซีย ตะวันออกใกล้ และอัฟกานิสถานต้นสูงประมาณ ๕๙ ซม. แตกกอได้มากถึง ๑๒ แขนง ขนาดของแผ่นใบเล็กกว่า ๒ กลุ่มแรก กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๘ ซม.

 ประโยชน์ เมล็ดใช้เป็นอาหารของคนเอเชีย ยุโรปแถบตะวันออกเฉียงใต้ และอัฟกานิสถานตอนเหนือโดยหุงต้มเช่นเดียวกับข้าวเจ้า ทำเป็นแป้งขนมปัง หรือผสมกับแป้งสาลีทำขนมต่าง ๆ แป้งข้าวฟ่างเป็นอาหารเด็กอ่อน ทำอาหารประเภทเส้น ทำเป็นของหวาน ในประเทศไทยนิยมทำเป็นขนมหวาน เช่น ข้าวฟ่างกวนในอินเดียใช้ทำอาหารประกอบพิธีทางศาสนา จีนใช้เป็นอาหารเสริมของผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ในยุโรปใช้เมล็ดเลี้ยงนก ต้นอ่อนหรือแขนงอ่อนของข้าวฟ่างใช้ทำน้ำส้มทำเบียร์ แอลกอฮอล์ และไวน์ ลำต้นใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาปลูกเพื่อใช้ต้นเป็นอาหารสัตว์ด้านการแพทย์ ข้าวฟ่างมีคุณสมบัติช่วยขับปัสสาวะฝาดสมาน มีสารทำให้นุ่มและชุ่มชื้น.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวฟ่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Setaria italica (L.) P. Beauv.
ชื่อสกุล
Setaria
คำระบุชนิด
italica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Palisot de Beauvois, Ambroise Marie François Joseph
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Palisot de Beauvois, Ambroise Marie François Joseph (1752-1820)
ชื่ออื่น ๆ
ฟ่างหางหมา (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางชุมศรี ชัยอนันต์