ข้าวบาร์เลย์

Hordeum vulgare L.

ไม้ล้มลุกปีเดียว ใบเรียงสลับ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ช่อดอกย่อยออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ เรียงเป็น ๒ แถวหรือ ๖ แถว ดอกย่อยมี ๑ ดอก มีรยางค์ยาว ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปรี อยู่ภายในกาบ

ข้าวบาร์เลย์เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตรง แตกกอ สูงได้ถึง ๑.๕ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๐.๕-๑๕ ซม. ยาว ๕-๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม กาบใบเกลี้ยง ลิ้นใบเป็นเยื่อบางยาว ๑-๓ มม. ปลายมีขนครุยสั้น ติ่งใบรูปเคียว

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ไม่รวมรยางค์ยาว ๒-๑๒ ซม. ช่อดอกย่อยไร้ก้าน ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ช่อ เรียงสลับเป็น ๒ แถวหรือ ๖ แถว บนแกนกลางช่อดอก ช่อดอกย่อยกลุ่มที่เรียง ๒ แถว มีช่อดอกย่อยกลางสมบูรณ์ช่อเดียว ส่วนกลุ่มที่เรียง ๖ แถวนั้นสมบูรณ์ทุกช่อ กาบช่อดอกย่อยแคบ ยาว ๔.๕-๕.๕ มม. ปลายเป็นขนยาว ดอกย่อยมี ๑ ดอก กาบล่างรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๙-๑๑ มม. ปลายมีรยางค์ ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. มีขนรูปตะขอ ในพันธุ์ปลูกบางพันธุ์ไม่มีรยางค์ เส้นตามยาวกาบมี ๕ เส้น กาบบนยาวเท่ากาบล่าง ด้านข้างพับเป็นสันตามยาว ไม่มีรยางค์ กลีบเกล็ด ๒ อัน เกสรเพศผู้ ๓ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนที่ปลาย มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ เส้น สั้น ยอดเกสรเพศเมียยาว มีขนยาวนุ่มเป็นพู่

 ผลเบบผลแห้งเมล็ดติด รูปรี ขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุ์ปลูก ปลายมีขน มีร่องตามยาวและด้านตรงข้ามนูน ส่วนใหญ่มีกาบ ๒ กาบหุ้ม

 ข้าวบาร์เลย์พันธุ์ปลูกทั่วไปมีหลากหลายนับร้อย ได้มีการจัดกลุ่มออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มพันธุ์ ๒ แถว กลุ่มพันธุ์ ๖ แถว และกลุ่มพันธุ์คละ ซึ่งช่อดอกย่อยเรียงมีทั้งแบบ ๒ แถว และ ๖ แถว ในช่อดอกเดียวกัน

 ข้าวบาร์เลย์พันธุ์ ๒ แถว และ ๖ แถว เป็นพืชนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ทางภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่วงการปลูกและเก็บเกี่ยว เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ในต่างประเทศข้าวบาร์เลย์มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกกลาง ปลูกกัน ๗,๐๐๐ ปี ก่อนคริสต์กาล และแพร่กระจายพันธุ์ปลูกแทบทั่วโลกในเขตอบอุ่นและเขตร้อน

 เมล็ดข้าวบาร์เลย์ที่สีเอาเฉพาะเปลือกออกไป เรียก ข้าวกล้องบาร์เลย์ (pot barley, hulled barley หรือ Scotch barley) ซึ่งนำไปหุงต้มทำเป็นอาหารได้ แต่เสียเวลาในการหุงต้มนาน เมื่อสุกแล้วเหนียว มีคุณค่าทางโภชนาการสูง หากนำข้าวกล้องไปขัดต่อจนผนังผลและเปลือกเมล็ดหลุดออกไป เรียกส่วนนี้ว่ารำ และได้ข้าวขาวบาร์เลย์ (pearl barley) มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าข้าวกล้องบาร์เลย์ แต่นำไปประกอบอาหารได้ง่ายกว่า

 ข้าวบาร์เลย์เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ ประโยชน์ส่วนใหญ่ได้จากทำให้เป็นมอลต์ก่อน โดยนำเมล็ดไปเพาะ เมื่อมีรากและยอดอ่อนโผล่ออกมาแล้ว จึงนำไปอบหรือทำให้แห้ง แยกเอาส่วนที่เป็นรากและยอดอ่อนออก ซึ่งส่วนนี้นำไปเลี้ยงสัตว์ได้ เมล็ดเมื่องอกเป็นมอลต์มีรสหวานและหอม มีคุณค่าทางอาหาร ใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายชนิด ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวบาร์เลย์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hordeum vulgare L.
ชื่อสกุล
Hordeum
คำระบุชนิด
vulgare
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.พัธกุล จันทนมัฏฐะ และ นางชุมศรี ชัยอนันต์