ข้าวตอกพระร่วง

Ligustrum sinense Lour.

ไม้พุ่ม หรือไม้ต้น ยอดอ่อนมีขนแน่น ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอกกว้างหรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกสีขาว ออกที่ปลายกิ่ง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม

ข้าวตอกพระร่วงเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้น สูงไม่เกิน ๓ ม. ยอดอ่อนมีขนสั้นและยาวปะปนกันหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอกกว้าง หรือรูปรี กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. ปลายแหลม หรือมน โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ เส้นแขนงใบมีประมาณข้างละ ๔ เส้น ด้านบนเห็นไม่ชัด หรือเป็นร่องตื้น ๆ ด้านล่างนูน แผ่นใบด้านล่างมีขนนุ่ม ก้านใบยาว ๓-๕ มม. มีขนหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง เป็นรูปพีระมิด กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. มีทั้งขนยาวและขนสั้นปะปนกันหนาแน่น มีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก เชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๕ มม. ขอบค่อนข้างเรียบ กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๐.๗๕ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แฉกรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เมื่อบานม้วนออกเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๒ อัน ยาวกว่ากลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๓ มม. อับเรณูรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑.๕-๒ มม. ยอดเกสรเพศเมีย ๒ อัน ยาว ๐.๒๕-๐.๕ มม.

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม.

 ข้าวตอกพระร่วงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มีการปลูกในประเทศไทยทางภาคกลาง ในต่างประเทศพบที่จีน และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวตอกพระร่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ligustrum sinense Lour.
ชื่อสกุล
Ligustrum
คำระบุชนิด
sinense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์