ข้าวตอก

Serissa japonica (Thunb.) Thunb.

ไม้พุ่ม ลำต้นและกิ่งมีขน ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี หูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ รูปแถบสั้น ปลายแยก ๓ แฉก ดอกตูมสีขาวอมชมพู ดอกบานสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง กลม เนื้อนุ่ม

ข้าวตอกเป็นไม้พุ่ม สูงไม่เกิน ๑ ม. ลำต้นและกิ่งมีขน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนแหลม ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ก้านใบสั้นมากหรือไม่มี หูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ รูปแถบสั้น ด้านบนแยกเป็น ๓ แฉก แฉกกลางยาวที่สุดประมาณ ๒ มม.

 ดอกออกตามง่ามใบหรือที่ยอด ๑-๓ ดอก ดอกตูมสีขาวอมชมพู ดอกบานสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕-๖ แฉก รูปใบหอก ปลายเรียวแหลม กลีบดอกโคนติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕-๖ แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ ๔ มม. สีขาว รูปไข่กลับ ปลายหยักเป็น ๓ หยัก ด้านนอกสีชมพูอ่อน แผ่นแฉกนูนเป็น ๓ พู ภายในหลอดดอกมีขนยาว เกสรเพศผู้ ๕-๖ อัน ติดอยู่ในหลอดดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูสีม่วงอ่อน รูปขอบขนาน ยื่นพ้นปากหลอดดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๓ แฉก ยาวไม่พ้นปากหลอด

 ผลแบผลผนังชั้นในแข็ง กลม เนื้อนุ่ม

 ข้าวตอกเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของจีนและญี่ปุ่น มีทั้งพันธุ์ใบด่างและพันธุ์ดอกซ้อน นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวตอก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Serissa japonica (Thunb.) Thunb.
ชื่อสกุล
Serissa
คำระบุชนิด
japonica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา