ข่าเล็ก

Alpinia officinarum Hance

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีลำต้นเทียม ใบเรียงสลับ รูปแถบแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด ดอกสีขาวและมีลายเส้นสีแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม สุกสีแดง

ข่าเล็กเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบเรียงสลับซ้อนกันแน่น ชูเหนือดินสูงประมาณ ๑.๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม ผิวใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบไม่มีหรือสั้นมาก ลิ้นใบเป็นเยื่อใส ยาวได้ถึง ๓ ซม. ปลายเรียวแหลม

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ทรงพีระมิด ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ออกที่ยอดของลำต้นเทียม แกนกลางช่อดอกมีขนเล็กน้อย ใบประดับเล็กมากรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. ชั้นกลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๔ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉกเล็ก ๆ มีขนเล็กน้อย ชั้นกลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยาวประมาณ ๒.๒ ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนแปลงเป็นกลีบปากสีขาวและมีลายเส้นสีแดง รูปไข่แกมขอบขนาน ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายหยักเล็กน้อย ขอบเป็นคลื่น เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลืออาจลดรูปหายไป เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. ก้นชูอับเรณูผอมบาง อับเรณูไม่มีหงอน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. สุกสีแดง

 ข่าเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน มณฑลไห่หนาน และมีการนำเข้ามาปลูกกันอยู่บ้างในประเทศไทย

 ประโยชน์ใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข่าเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Alpinia officinarum Hance
ชื่อสกุล
Alpinia
คำระบุชนิด
officinarum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hance, Henry Fletcher
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1827-1886)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์