ข่าต้น

Cinnamomum ilicioides A. Chev.

ชื่ออื่น ๆ
ตะไคร้ต้น (กลาง); พลูต้น (เชียงใหม่)
ไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องลึกตามยาวใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือใกล้ปลายกิ่งกลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ติดทน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่กลับ สุกสีม่วงอมดำ

ข่าต้นเป็นไม้ต้น สูง ๕-๑๘ ม. เรือนยอดกลม เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องลึกตามยาว กิ่งอ่อนสีเขียวอ่อนกิ่งแก่สีเทาอมดำ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๖-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมโคนสอบหรือค่อนข้างมน ขอบเรียบ เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ปลายโค้งจดกัน ตามซอกเส้นแขนงใบด้านล่างมีตุ่มใบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวอ่อนเป็นมัน ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน ก้านใบยาว ๑.๓-๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือใกล้ปลายกิ่ง กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๙ เกสร เรียงเป็น ๓ วง วงนอก ๒ วง ก้านชูอับเรณูไม่มีต่อม อับเรณูหันเข้า วงที่ ๓ โคนก้านชูอับเรณูมีต่อม ๒ ต่อม อับเรณูหันออก เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอยู่วงในสุด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่กลับยาวประมาณ ๒ ซม. ออกเป็นช่อ ยาว ๖.๕-๗ ซม. สุกสีม่วงอมดำ มีกลีบรวมสีเขียว ติดทน กว้างและยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ก้านผลค่อนข้างใหญ่ มีขนสีเหลืองอมน้ำตาล ยาวประมาณ ๒.๕ ซม.

 ข่าต้นเป็นพรรณไม้หายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ และยังไม่มีตัวอย่างที่สมบูรณ์ ในต่างประเทศพบที่จีนและเวียดนามตอนเหนือ

 ประโยชน์ เปลือกใช้เป็นสมุนไพร ขับลมในลำไส้ดับกลิ่นคาว ขับปัสสาวะ แก้คลื่นเหียน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข่าต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cinnamomum ilicioides A. Chev.
ชื่อสกุล
Cinnamomum
คำระบุชนิด
ilicioides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Chevalier, Auguste Jean Baptiste
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1873-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ตะไคร้ต้น (กลาง); พลูต้น (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์