ข่า

Alpinia galanga (L.) Willd.

ชื่ออื่น ๆ
กฏุกกโรหินี (กลาง); ข่าหยวก, ข่าหลวง (เหนือ); เสะเออเคย, สะเอเชย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน ช่อดอกแบบ ช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ดอกสีเขียวอ่อนปลายสีขาวผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมถึงทรงรูปไข่ สุกสีส้มแดง

ข่าเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าค่อนข้างแข็งและเหนียว สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับซ้อนกันแน่นและชูเหนือดิน ขึ้นเป็นกอ สูง ๒-๓ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง ๖-๑๑ ซม. ยาว ๒๕-๕๐ ซม. ปลายเป็นติ่งหนาม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบบางใส แผ่นใบเกลี้ยง ยกเว้นบริเวณโคนของเส้นกลางใบมีขนสั้น ๆ เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง ก้านใบยาว ๕-๗ มม. ด้านล่างมีขนเล็กน้อย ลิ้นใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๔ มม. ยาว ๗ มม. มีขนเล็กน้อย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ประกอบด้วยช่องวงแถวเดี่ยว มีดอก ๔-๕ ดอก เรียงห่าง ๆ อยู่บนแกนช่อ ข่า ใบประดับบางคล้ายเยื่อ ยาวประมาณ ๒ ซม. ร่วงง่ายใบประดับย่อยลักษณะคล้ายใบประดับ แต่ขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก สีเขียวอ่อนปลายสีขาว ยาวประมาณ ๒ ซม. แฉกบนกว้างประมาณ ๗ มม. ปลายคุ่ม แฉกข้าง ๒ แฉกแคบกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนเป็นกลีบปากรูปคล้ายช้อน ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มีก้าน ส่วนที่เป็นแผ่นยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกลึกประมาณ ๖ มม. สีขาวและมีขีดสีชมพูทั้ง ๒ ข้างของเส้นกลางแผ่นขอบจักฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบ เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลือรูปลิ่มแคบ ขนาดเล็กมากหรือเป็นเส้นบาง สีแดง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑.๖ ซม. อับเรณูยาวประมาณ ๙ มม. สีเหลือง ไม่มีหงอน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๕ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล


จำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียรูปสามเหลี่ยมกลับ

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมถึงทรงรูปไข่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑-๑.๕ ซม. สุกสีส้มแดง

 ข่ามีถิ่นกำเนิดไม่แน่ชัด เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของเอเชียใต้ อินเดีย และอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีการปลูกกันทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน

 ประโยชน์ เหง้าและหน่ออ่อนนำมาใช้มากในการปรุงแต่งรสอาหาร และใช้ทำยาสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Alpinia galanga (L.) Willd.
ชื่อสกุล
Alpinia
คำระบุชนิด
galanga
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Willdenow, Carl Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Willdenow, Carl Ludwig von (1765-1812)
ชื่ออื่น ๆ
กฏุกกโรหินี (กลาง); ข่าหยวก, ข่าหลวง (เหนือ); เสะเออเคย, สะเอเชย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์