ขึ้นฉ่าย

Apium graveolens L.

ชื่ออื่น ๆ
ผักข้าวปืน, ผักปืน, ผักปืม (เหนือ)
ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นเหลี่ยม กลวง กลิ่นฉุน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามง่ามใบหรือตรงข้ามใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแยกสองซีก ซีกผลมีสันตามยาว ๕ สัน

ขึ้นฉ่ายเป็นไม้ล้มลุก สูง ๑๕-๘๐ ซม. กลิ่นฉุน ลำต้นเป็นเหลี่ยม ภายในกลวง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๕-๒๕ ซม. มีใบย่อย ๓-๕ ใบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบหยักหรืออาจเว้าลึก ๓ แฉก ก้านใบประกอบยาว ๓-๒๐ ซม. โคนก้านแผ่เป็นกาบ

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามง่ามใบหรือตรงข้ามใบ ดอกเล็กมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ขอบค่อนข้างเรียบหรือหยักตื้น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว รูปไข่ เกสรเพศผู้ ๕ อัน เล็กมาก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ อัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็กมาก

 ผลแบบผลแห้งแยกสองซีก ซีกผลเล็กมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ค่อนข้างแบนข้าง ด้านที่นูนมีสันตามยาว ๕ สัน มี ๒ เมล็ด

 ขึ้นฉ่ายมีถิ่นกำเนิดในแถบยุโรปหรือภูมิภาคเขตหนาว นิยมนำมาปลูกเป็นผักและนำมาใช้เป็นสมุนไพรบ้าง จีนใช้เป็นยาบำรุงและยาช่วยย่อย ฟิลิปปินส์ใช้ขับปัสสาวะ (Perry and Metzger 1980).


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขึ้นฉ่าย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Apium graveolens L.
ชื่อสกุล
Apium
คำระบุชนิด
graveolens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ผักข้าวปืน, ผักปืน, ผักปืม (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์