ขี้ไก่ย่าน

Mikania cordata (Burm. f.) B. L. Robin.

ชื่ออื่น ๆ
ขี้เหล็กย่าน
ไม้เถา ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่แกมสามเหลี่ยม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ดอกย่อยในช่อมีแบบเดียว ดอกสีขาวอมเขียว ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน

ขี้ไก่ย่านเป็นไม้เถา ลำต้นเลื้อยพัน ยาวได้ถึง ๗ ม. มีขนประปรายหรือเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนเป็นรูปหัวใจ ขอบเป็นคลื่นและจักซี่ฟันห่าง ๆ หรือบางครั้งเรียบ แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนนุ่มประปรายทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีต่อม เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ประกอบด้วยช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น แต่ละช่อย่อยเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. วงใบประดับบาง มีชั้นเดียว เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ยาวประมาณ ๔ มม. มีเส้นตามยาว ๒-๓ เส้น ดอกย่อยในช่อมีแบบเดียว จำนวน ๓-๔ ดอก กลีบเลี้ยงเป็นพู่สีขาวแล้วเปลี่ยนมาเป็นสีน้ำตาลแดง ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบดอกสีขาวอมเขียว โคนติดกันเป็นหลอด ยาว ๔-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน รูปขอบขนานติดกันทางด้านข้างเป็นหลอดล้อมรอบก้านยอดเกสรเพศเมีย อับเรณูมีรยางค์ โคนมน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก เรียวยาว

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปขอบขนาน ยาว ๒-๓ มม. สีน้ำตาลเข้ม มีต่อม มีพู่สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ยาวประมาณ ๓ มม.

 ขี้ไก่ย่านมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เป็นวัชพืชตามชายป่าสองข้างทาง และตามที่รกร้างว่างเปล่า มักขึ้นพันกันเป็นพุ่ม ในต่างประเทศพบในเอเชียเขตร้อน แอฟริกาเขตร้อน และอเมริกาเขตร้อน

 ใบใช้ตำพอกบาดแผล แก้อาการอักเสบและโรคหิด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้ไก่ย่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mikania cordata (Burm. f.) B. L. Robin.
ชื่อสกุล
Mikania
คำระบุชนิด
cordata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent)
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent) (1734-1793)
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้เหล็กย่าน
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต