ขี้แรดใหญ่

Caesalpinia enneaphylla Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กำจาย, หนามจาย (ตะวันตกเฉียงใต้)
ไม้เถา มีหนาม ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ใบย่อยรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนาน สันฝักด้านบนมีครีบบางตลอดสัน มี ๔-๖ เมล็ด

ขี้แรดใหญ่เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมโค้ง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน แกนกลางยาว ๒๐-๓๐ ซม. ก้านใบประกอบ ยาว ๔-๘(๑๐) ซม. หูใบคล้ายเกล็ดขนาดเล็ก ใบประกอบแยกแขนง ๘-๑๒ คู่ ยาว ๔-๖ ซม. มีใบย่อย ๘-๑๐ คู่ เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ปลายมนและหยักเว้าเล็กน้อย โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยสั้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. ใบประดับยาว ๑-๒ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบเลี้ยงล่างสุดโค้งเป็นกระพุ้ง มีขนาดใหญ่และคลุมกลีบอื่นเมื่อดอกตูม กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง เรียงเกยกัน กลีบในสุดรูปโล่ มีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ปลายหยักเว้า เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔-๖ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๘-๑๓ ซม. สันฝักด้านบนมีครีบแบนบางยาวตลอดสัน มี ๔-๖ เมล็ด เมล็ดรูปขอบขนานแกมรูปไข่ สีน้ำตาล กว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม.

 ขี้แรดใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณและป่าโปร่ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า และเวียดนามใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้แรดใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Caesalpinia enneaphylla Roxb.
ชื่อสกุล
Caesalpinia
คำระบุชนิด
enneaphylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กำจาย, หนามจาย (ตะวันตกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม