ขี้แรดดง

Acacia andamanica I. C. Nielsen

ไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีหนามงอโค้งตามลำต้นและกิ่ง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ก้านใบมีต่อมที่โคนก้าน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน เมล็ดแบน รูปรี สีน้ำตาล

ขี้แรดดงเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย ยาว ๕-๑๕ ม. ลำต้นและกิ่งมีหนามงอโค้ง กิ่งอ่อนมีขนนนุ่มและมีขนต่อมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. มีต่อมใกล้โคนก้าน หูใบรูปหัวใจปลายแหลม กว้าง ๑-๔ มม. ยาว ๓-๘ มม. แกนกลางยาว ๕-๑๕ ซม. แกนกลางย่อย ๕-๙ คู่ ยาว ๔-๘ ซม. มีใบย่อย ๑๐-๓๕ คู่ ใบย่อยรูปขอบขนาน เบี้ยว กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๖-๑๒ มม. ปลายมน โคนตัด ด้านล่างมีเส้นแขนงใบชัดเจน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ใบประดับรูปช้อน ยาวประมาณ ๑.๒ มม. ดอกเล็ก สีขาว ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปรีแกมรูปไข่ ปลายแหลม (๔-)๕ แฉก ยาว ๐.๗-๑ มม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๒.๕-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่แกมรูปรี ๕ แฉก ยาว ๑-๑.๕ มม. เกสรเพศผู้มีมากกว่า ๓๐ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๘-๑๐ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๘-๒.๕ ซม. ยาว ๙.๕-๑๓ ซม. สีน้ำตาล มีเมล็ด ๕-๘ เมล็ด แบน รูปรี สีน้ำตาล กว้าง ๗-๗.๕ มม. ยาว ๙-๙.๕ มม.

 ขี้แรดดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ตามเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง ๓๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ฝักแก่ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้แรดดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acacia andamanica I. C. Nielsen
ชื่อสกุล
Acacia
คำระบุชนิด
andamanica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Nielsen, Ivan Christian
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Nielsen, Ivan Christian (1946-2007)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม