ขี้เหล็กอเมริกัน

Senna spectabilis (DC.) Irwin & Barneby

ชื่ออื่น ๆ
สุวรรณพฤกษ์ (กลาง)
ไม้ต้น ส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่แคบหรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปทรงกระบอก สีดำเป็นมัน มีรอยตามขวางคั่นระหว่างเมล็ด มีเมล็ดจำนวนมาก

ขี้เหล็กอเมริกันเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๗ ม. ส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีขนนุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน แกนกลางยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๓-๔ ซม. หูใบรูปแถบหรือรูปเคียว ยาวประมาณ ๑ ซม. ร่วงง่าย มีใบย่อย ๖-๑๕ คู่ ใบย่อยรูปไข่แคบ หรือรูปรี กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายแหลมและมีติ่งหนาม โคนมน แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขน ก้านใบย่อยสั้น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มีใบแซม ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ดอกสีเหลือง ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. มีขนนุ่ม ใบประดับรูปไข่ ยาว ๔-๕ ซม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ชั้นนอก ๒ กลีบ มีขน ชั้นใน ๓ กลีบ เกลี้ยงและขนาดใหญ่กว่า ยาว ๕-๗ ซม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปช้อน มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบที่อยู่ด้านล่างรูปเคียวกว้าง ขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ ยาว ๒-๒.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน สมบูรณ์ ๗ อัน มีขนาดใหญ่ ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๓ ซม. อับเรณูมีรูเปิดที่ปลาย เกสรเพศผู้อีก ๓ อัน ลดรูปมีขนาดเล็กลงมาก อับเรณูรูปไต รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง โค้งงอ ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียไม่เด่นชัด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑๘-๒๕ ซม. สีดำ เป็นมัน เกลี้ยง มีรอยตามขวางคั่นระหว่างเมล็ด มีเมล็ด ๕๐-๗๐ เมล็ด รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม.

 ขี้เหล็กอเมริกันเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลาง นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ นิยมปลูกตามริมถนน.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้เหล็กอเมริกัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Senna spectabilis (DC.) Irwin & Barneby
ชื่อสกุล
Senna
คำระบุชนิด
spectabilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de
- Irwin, James Bruce
- Barneby, Rupert Charles
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
- Irwin, James Bruce (1921- )
- Barneby, Rupert Charles (1911- )
ชื่ออื่น ๆ
สุวรรณพฤกษ์ (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา