ขี้อ้าย

Walsura robusta Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กัดลิ้น, กัดลิ้นลิง, หว้าสามดวง (ตะวันออกเฉียงใต้); แก้มช้อน, ย่ามฝ้าย (ใต้); คอมเฮาะ, แดงดง, น้ำนุ่
ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีช่องอากาศหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๕ ใบ พบน้อยที่มี ๓ ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือขาวแกมเขียว กลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปทรงกลม ผิวมีขน ผลอ่อนสีเขียว สุกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมน้ำตาล เมล็ดรูปทรงกลมหรือเกือบกลมมี ๑-๒ เมล็ด มีเยื่อนุ่มสีขาวนวลหรือสีน้ำตาลหุ้ม

ขี้อ้ายเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. เรือนยอดค่อนข้างกลม เปลือกนอกสีเทาหรือเทาอมน้ำตาล เปลือกในสีแดงอมชมพู กิ่งอ่อนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีช่องอากาศหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๔-๘ ซม. ด้านบนแบน มีใบย่อย ๕ ใบ พบน้อยที่มี ๓ ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. มักเบี้ยวเล็กน้อย ใบย่อยที่ปลายมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือมนขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๑๐ เส้น ปลายโค้งขึ้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ ด้านบนเป็นร่องตื้น ด้านล่างนูนเป็นสัน เส้นใบย่อยแบบร่างแหละเอียด เห็นชัดทางด้านล่าง ช่องว่างระหว่างเส้นใบย่อยมีลักษณะคล้ายจุดสีขาวแกมเหลืองกระจายทั่วไป ก้านใบย่อยของใบคู่ตรงข้ามยาว ๐.๕-๒ ซม. ส่วนก้านใบย่อยของใบที่ปลายยาว ๑.๕-๔.๕ ซม. ด้านบนแบนเล็กน้อย เกลี้ยง หรือมีขนประปราย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๘-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๗ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนประปราย มีช่องอากาศกระจายทั่วไป แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกสั้นใบประดับรูปใบหอก ยาว ๑-๓ มม. ดอกเล็ก สีขาวหรือขาวแกมเขียว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ ยาว ๐.๕-๑ มม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน หรือด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว ๓-๔ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร สั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคนและมีขนประปราย อับเรณูรูปไข่ แตกตามยาว จานฐานดอกเป็นวงแหวน มีขนที่ขอบด้านบน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปทรงกลม มีขน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยสั้น

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๕ ซม. ผนังผลบางแต่เหนียวคล้ายหนัง ผิวมีขน ผลอ่อนสีเขียว สุกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมน้ำตาล เมล็ดรูปทรงกลมหรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑.๒ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด มีเยื่อนุ่มสีขาวนวลหรือสีน้ำตาลหุ้ม รสหวาน

 ขี้อ้ายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายนในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมาภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง เยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน กินได้ สรรพคุณด้านสมุนไพรใช้รากแก้ไข้แก้อักเสบ แก้ท้องร่วง แก้ปวดเมื่อย เปลือกต้นเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด ล้างแผล ห้ามเลือด รักษาฝีหนอง แก้บวม ขับพยาธิ เนื้อไม้ใช้ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้บวม แก้ปวดเมื่อย ดอกและผลแก้บิด รักษาฝีหนอง ขับพยาธิ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้อ้าย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Walsura robusta Roxb.
ชื่อสกุล
Walsura
คำระบุชนิด
robusta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กัดลิ้น, กัดลิ้นลิง, หว้าสามดวง (ตะวันออกเฉียงใต้); แก้มช้อน, ย่ามฝ้าย (ใต้); คอมเฮาะ, แดงดง, น้ำนุ่
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี