ขี้หนอน

Scleropyrum pentandrum (Dennst.) Mabb.

ชื่ออื่น ๆ
เคาะหนาม (เชียงใหม่); นมวัว (นครราชสีมา); มะไฟแรด (ระยอง); เหมือดคน (กลาง, จันทบุรี, สระบุรี)
ไม้ต้น ลำต้นคดงอและมีหนามแข็งทั่วไป ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรี รูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ มีขนใบแห้งมีสีออกเหลือง มีทั้งดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามลำต้นกิ่ง และเหนือรอยแผลใบ ดอกสีชมพูอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปลูกข่าง สุกสีเหลือง

ขี้หนอนเป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๐ ม. ลำต้นและกิ่งมักมีปุ่มปม คดงอ และมีหนามแข็งทั่วไป เปลือกสีเทาอ่อนกิ่งอ่อนอวบและมีรอยแผลใบ เนื้อไม้สีขาวอมเหลือง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๐-๑๗ ซม. ปลายทู่หรือมน โคนมนหรือสอบและมักเบี้ยวเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านบนมีขนประปรายและเป็นร่องตามเส้นใบ ด้านล่างมีขนมากกว่าด้านบนและเส้นใบนูนเด่นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น เส้นมักคด แต่ปลายเส้นจะโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ใบแห้งมีสีออกเหลือง ก้านใบยาว ๐.๓-๑ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ยาว ๓-๗ ซม. ออกตามลำต้น กิ่ง และเหนือรอยแผลใบ ใบประดับงุ้ม ปลายแหลม ร่วงง่าย ดอกเล็กกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีชมพูอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียว ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่โคนกลีบเลี้ยงด้านใน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียกลมแบน

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปลูกข่าง แข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล สุกสีเหลืองก้านผลยาว ๑-๒ ซม.

 ขี้หนอนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าชายหาด ป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย

 ใบอ่อนและดอกของขี้หนอนชนิดนี้เป็นพิษร้ายแรง ซึ่งใบอ่อนดูคล้ายกับใบผักหวาน (Melientha suavis Pierre) ที่กินได้ ข้อสังเกตที่เห็นเด่นชัดคือ ใบผักหวานเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ส่วนใบขี้หนอนชนิดนี้มีขน โดยเฉพาะทางด้านล่าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้หนอน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Scleropyrum pentandrum (Dennst.) Mabb.
ชื่อสกุล
Scleropyrum
คำระบุชนิด
pentandrum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dennstedt, August Wilhelm
- Mabberley, David John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Dennstedt, August Wilhelm (1776-1826)
- Mabberley, David John (1948-)
ชื่ออื่น ๆ
เคาะหนาม (เชียงใหม่); นมวัว (นครราชสีมา); มะไฟแรด (ระยอง); เหมือดคน (กลาง, จันทบุรี, สระบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย