ขี้มด

Glochidion assamicum (Müll. Arg.) Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
แมงเม่าช้าง (สระบุรี)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกเหนือง่ามใบ ผลแบบผลแห้งแยก รูปกลมแป้น เมล็ดสีแดง

ขี้มดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๑๐ ม. เปลือกค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นหางยาว โคนสอบ ขอบเรียบ เส้นแขนงใบเรียว ปลายโค้งขึ้น มีข้างละ ๕-๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อน เมื่อแห้งด้านล่างสีน้ำตาลเข้มกว่าด้านบน ก้านใบยาว ๒-๔ มม. หูใบรูปลิ่มแคบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓.๒ มม. ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกเหนือง่ามใบ ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้กลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ก้านดอกยาว ๑.๒-๒ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๖ แฉก รูปไข่กลับหรือรูปช้อนแกมรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ ๓ อัน อับเรณูยาว ๐.๖-๑.๒ มม. แกนอับเรณูยื่นยาวเป็นฟันแหลม สีดำ ดอกเพศเมียเล็ก แต่ละกระจุกมีดอกมาก ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงชั้นเดียว รูปขอบขนานแกมรูปแถบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรวมกันเป็นแท่งสั้น ๆ ยอดเกสรเพศเมียติดกันเป็นรูปกรวย

 ผลแบบผลแห้งแยก รูปกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. มี ๔ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียติดที่ปลายผล ก้านผลสั้น เมล็ดสีแดง รูปครึ่งทรงกลม

 ขี้มดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง พบในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณชื้น และป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน (มณฑลยูนนานและเกาะไหหลำ) ไต้หวัน เทือกเขาหิมาลัย อินเดีย (รัฐอัสสัม) พม่าและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้มด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glochidion assamicum (Müll. Arg.) Hook. f.
ชื่อสกุล
Glochidion
คำระบุชนิด
assamicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean) (1828-1896)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
แมงเม่าช้าง (สระบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์