ขี้ขม

Ligustrum confusum Decne.

ชื่ออื่น ๆ
ลูกข่าง, ลูกทุ่ง (สตูล); ฮัดเซย (เชียงราย)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ยอดอ่อนมีขน เปลือกมีช่องอากาศ ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ มักมีตุ่มขนตามผิวใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม มี ๑ เมล็ด

ขี้ขมเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๓-๘ ม. แตกกิ่งก้านเล็กน้อย กิ่งเล็ก เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ตามลำต้นมีช่องอากาศ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ มีขนประปรายและมีตุ่มขนอยู่บนผิวใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เป็นสันทางผิวใบด้านล่าง และเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบน ก้านใบยาว ๔–๑๐ มม. มีตุ่มขน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. แขนงโคนช่อจะยาวกว่าแขนงที่ไปสู่ปลายช่อ มีขนที่ก้าน ก้านดอกสั้นมาก ยาวเท่ากลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายจักตื้น ๆ ๔ แฉก กว้างยาวประมาณ ๒ มม. กลีบดอกสีขาว ยาวประมาณ ๓ มม. โคนกลีบติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมี ๔ แฉก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๒ อัน ยาวประมาณ ๑.๕ มม. อับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ๒ ตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. มี ๑ เมล็ด

 ขี้ขมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ พบตามป่าดิบที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง ๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้ขม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ligustrum confusum Decne.
ชื่อสกุล
Ligustrum
คำระบุชนิด
confusum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Decaisne, Joseph
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1807-1882)
ชื่ออื่น ๆ
ลูกข่าง, ลูกทุ่ง (สตูล); ฮัดเซย (เชียงราย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางทิพย์พรรณ สดากร