ขี้กาแดง

Trichosanthes tricuspidata Lour.

ชื่ออื่น ๆ
กระดึงช้าง, กระดึงช้างเผือก (ประจวบคีรีขันธ์); ขี้กาขม (พังงา); ขี้กาลาย, ขี้กาใหญ่ มะตูมกา (นครราชส
ไม้เถาเนื้ออ่อน ใบเรียงเวียน รูปค่อนข้างกลม มี ๓-๕ แฉก มีมือเกาะ ช่อดอกเดี่ยวหรือแบบช่อกระจุก ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น สีขาว ออกตามง่ามใบ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด กลม สุกสีแดง

ขี้กาแดงเป็นไม้เถาเนื้ออ่อน ต้นเป็นเหลี่ยม ยาวได้ถึง ๙ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๙-๑๗ ซม. ขอบหยักเว้าตื้น ๓-๕ หยัก ใบด้านล่างมีต่อมสีเข้มกระจายทั่วไป ใบสากคาย ก้านใบยาว ๔-๗ ซม. มือเกาะอยู่ตรงข้ามกับใบ ปลายแยกแขนง ๓-๕ เส้น

 ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ใบประดับช่อดอกเพศผู้รูปไข่ ยาวไม่น้อยกว่า ๒.๕ ซม. ปลายหยักเป็นฝอย มี ๒-๑๐ ดอก แต่ละดอกมีใบประดับ รูปค่อนข้างกลม ขอบเป็นแฉกไม่สม่ำเสมอ สีเขียวหรือสีแดงเข้มรองรับ ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปกรวยยาว โคนแคบยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายแยก ๕ แฉก ขอบแฉกจักแหลม กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยก ๕ แฉก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๓ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด ยาว ๔-๖ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแฉก ๕ แฉก มีขนหยาบ ๆ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปไข่ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ ซม. ก้านผลยาว ๒-๓ ซม. ผิวเรียบ เมื่อสุกสีแดงสด เมล็ดจำนวนมาก รูปไข่กว้าง กว้าง ๘-๑๐ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. หนาประมาณ ๓ มม.

 ขี้กาแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าละเมาะและป่าโปร่ง ในต่างประเทศพบแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 ผลสุกเป็นพิษ เมื่อกินแล้วทำให้ถ่ายท้องอย่างแรง เมล็ดมีพิษเบื่อเมา รากเป็นพิษ ใช้เป็นยาเบื่อสัตว์ (Chopra, Badhwar and Ghosh, 1984) ใบอ่อนกินเป็นผัก (Tanaka, 1976) และใช้เป็นยาพอกฝีได้ (Burkill, 1966).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้กาแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trichosanthes tricuspidata Lour.
ชื่อสกุล
Trichosanthes
คำระบุชนิด
tricuspidata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
กระดึงช้าง, กระดึงช้างเผือก (ประจวบคีรีขันธ์); ขี้กาขม (พังงา); ขี้กาลาย, ขี้กาใหญ่ มะตูมกา (นครราชส
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา