ขิงลำปี

Zingiber spectabile Griff.

ชื่ออื่น ๆ
กะทือช้าง, กะทือแดง, กะทือป่า (ยะลา); จะเงาะ, ดากเงาะ (ปัตตานี)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้ารูปทรงกระบอก ใบประดับสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดงเรียงซ้อนกันแน่น ดอกสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ สุกสีน้ำตาลแดง

ขิงลำปีเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับและโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน ขึ้นเป็นกอ สูง ๑-๒ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๓๐-๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ ด้านล่างมีขนเล็กน้อยไม่มีก้านใบลิ้นใบบาง ใส สีเขียวอ่อน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า รูปทรงกระบอก กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านช่อยาว ๒๐-๔๐ ซม. ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับเรียงซ้อนกันแน่น สีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง รูปไข่กลับ กว้างและยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. ปลายมนและโค้งเข้าด้านในทำให้เกิดเป็นแอ่ง มักพบมีน้ำขังอยู่ภายใน ขอบบางใสซอกใบประดับมีดอกหลายดอก ใบประดับย่อยรูปแถบยาวประมาณ ๔ ซม. ขอบพับซ้อนกัน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ ซม. มี ๒ แฉก เกลี้ยง สีชมพูหรือสีนวล กลีบดอกสีเหลืองอ่อนส่วนที่เป็นหลอดยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกกลางกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒.๖ ซม. แฉกข้าง ๒ แฉก ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ ๐.๖ ซม. ยาวประมาณ ๒.๒ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีม่วงเข้มและมีจุดประสีเหลืองอ่อนรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลืออีก ๒ เกสร สีเดียวกับกลีบปาก รูปรี ปลายมน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือไม่มี อับเรณูสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ ๑ ซม. มีรยางค์เป็นหงอนสีม่วงโอบหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมียเหนืออับเรณู ดูคล้ายจะงอย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียรูปถ้วย ขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ กว้าง ๑-๑.๓ ซม. ยาว ๒.๔-๓ ซม. สุกสีน้ำตาลแดง เมล็ดรูปกระสวย

 ขิงลำปีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบชื้น ตามริมลำธารหรือชายป่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย ชวา และสุมาตรา

 ประโยชน์ ขิงลำปีมีช่อดอกขนาดใหญ่ ก้านช่อยาวสีสวย ทนนาน เหมาะสำหรับใช้เป็นไม้ประดับ ในมาเลเซียใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขิงลำปี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Zingiber spectabile Griff.
ชื่อสกุล
Zingiber
คำระบุชนิด
spectabile
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1810-1845)
ชื่ออื่น ๆ
กะทือช้าง, กะทือแดง, กะทือป่า (ยะลา); จะเงาะ, ดากเงาะ (ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์