ขิงดาขาว

Zingiber gracile Jack

ชื่ออื่น ๆ
อีมน (เพชรบุรี)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า ใบประดับเรียงซ้อนกันแน่นเป็นรูปกระสวยหรือรูปทรงกระบอก เมื่ออ่อนมีสีชมพูหรือสีส้ม แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกสีนวลผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดรูปกระสวย

ขิงดาขาวเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน ขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ ๑ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอก กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนรูปลิ่ม ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างและเส้นกลางใบมีขนก้านใบยาว ๑-๔ ซม. ลิ้นใบยาวประมาณ ๑.๘ ซม. แยกเป็น ๒ แฉก ปลายมน เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย มีจุดประสีดำ

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า รูปกระสวยหรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ก้านช่อเรียว ยาว ๑๐-๔๐ ซม. ใบประดับเรียงซ้อนกันแน่นเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๓.๕-๕ ซม. ปลายแหลม เมื่ออ่อนมีสีชมพูหรือสีส้ม แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงมีขนคลุม ใบประดับย่อยยาว ๒-๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒.๕-๓ ซม. กลีบดอกสีนวลโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๖ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยาว ๑.๕-๒ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนเป็นกลีบปาก ยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. แฉกกลางรูปขอบขนานยาวประมาณ ๒.๒ ซม. ปลายเว้าตื้น เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลืออีก ๒ เกสร คล้ายกลีบดอก รูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. เชื่อมติดกับกลีบปากทางด้านข้าง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ มี ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีขนมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียรูปถ้วย ขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. เกลี้ยง เมล็ดรูปกระสวย

 ขิงดาขาวเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในมาเลเซีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขิงดาขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Zingiber gracile Jack
ชื่อสกุล
Zingiber
คำระบุชนิด
gracile
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1795-1822)
ชื่ออื่น ๆ
อีมน (เพชรบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์