ขาเปีย

Hymenopyramis parvifolia Moldenke

ชื่ออื่น ๆ
โป่งลม (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนหนาแน่น ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี หรือค่อนข้างกลม ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวหรือเหลืองอมน้ำตาล ผลแบบผลแห้งแตก มีกลีบเลี้ยงติดทน รูปคล้ายโคมไฟหุ้ม

ขาเปียเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูงได้ถึง ๓ ม. ลำต้นแตกกิ่งไม่เป็นระเบียบ กิ่งเรียวเล็ก กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยมมน ๆ มีขนสีเทาหรือสีเหลืองอมน้ำตาลหนาแน่น กิ่งแก่กลม เกลี้ยง เปลือกสีเทาดำ แต่ละข้อห่างกัน ๑.๓-๕ ซม. ไม่พบกลุ่มเซลล์ผนังหนาตามข้อ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๘-๓.๔ ซม. ยาว ๒.๕-๕.๕ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม แหลม มน กลม หรือเว้า โคนแหลมหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบาง มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน แต่ด้านล่างมีขนสีอ่อนกว่าและหนาแน่นกว่า เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเรียวเล็ก ด้านบนเรียบหรือเป็นร่องตื้น ๆ ด้านล่างนูนเห็นชัด มีข้างละ ๓-๔ เส้น โค้งไปทางปลายใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ กว้างและยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๓-๘ มม. ดอกเล็ก สีออกขาวหรือสีเหลืองอมน้ำตาล เกือบทุกส่วนมีขนอุย ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. ใบประดับยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๑ มม. สีค่อนข้างขาว ขอบหยักซี่ฟันตื้น ๆ ๔ หยัก กลีบดอกเชื่อมติดเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีขาว ปลายแยก ๔ แฉก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ ๔ อัน ติดภายในหลอดดอก ปลายยื่นพ้นปากหลอดประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดดอกประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กมาก ปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่ค่อนข้างแบน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. มีขนตั้งตรงคลุมหนาแน่น และมีกลีบเลี้ยงติดทนซึ่งขยายใหญ่ รูปคล้ายโคมไฟหุ้ม กว้าง ๒.๘-๓ ซม. ยาว ๔-๔.๕ ซม. บาง สีเขียว มีเส้นเป็นร่างแห เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีขาว มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 ขาเปียเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในที่ราบตามป่าผลัดใบ ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขาเปีย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hymenopyramis parvifolia Moldenke
ชื่อสกุล
Hymenopyramis
คำระบุชนิด
parvifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Moldenke, Harold Norman
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1909- )
ชื่ออื่น ๆ
โป่งลม (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์