ขาม้าบิด

Mussaenda wallichii G. Don.

ชื่ออื่น ๆ
บ่าวมามืด (พัทลุง), ไผ่เถื่อน (จันทบุรี), ยาขโมย (ตราด)
ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม เรียวแหลม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ดอกสีแดงเข้มหรือสีแสด กลีบเลี้ยงหนึ่งกลีบขยายใหญ่คล้ายกลีบดอก สีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด

ขาม้าบิดเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูงประมาณ ๓ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๗.๕ ซม. ยาว ๖.๕-๑๕.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบแคบเป็นครีบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบาง ด้านบนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างตามเส้นใบมีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบปลายเรียวแหลม ยาว ๓-๕ มม. บางครั้งปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑.๓ ซม. โคนติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบเลี้ยงหนึ่งกลีบขยายใหญ่คล้ายกลีบดอก สีขาว รูปไข่ค่อนข้างป้อม กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. โคนเรียวคล้ายก้านยาว ๑-๒ ซม. กลีบดอกสีแดงเข้มหรือสีแสด โคนติดกันเป็นหลอดรูปกรวยเล็ก ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่ที่ปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปแถบ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด ก้านเกสรเพศเมียเล็กเหมือนเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปแถบ ๒ อัน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ป้อม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มม. เนื้อนุ่ม มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก

 ขาม้าบิดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบและตามชายป่า ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า และมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขาม้าบิด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mussaenda wallichii G. Don.
ชื่อสกุล
Mussaenda
คำระบุชนิด
wallichii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, George (1798-1856)
ชื่ออื่น ๆ
บ่าวมามืด (พัทลุง), ไผ่เถื่อน (จันทบุรี), ยาขโมย (ตราด)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์