ขางหางเล็ก

Vernonia parishii Hook. f.

ไม้พุ่ม กิ่งก้านมีขนหนาแน่น ใบเรียงสลับ รูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น วงใบประดับสีม่วง ดอกเล็กมาก ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน

ขางหางเล็กเป็นไม้พุ่ม กิ่งก้านกลม แข็ง มีขนนุ่มค่อนข้างหนาแน่นทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับ กว้าง ๔.๕-๙ ซม. ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ปลายค่อนข้างแหลมหรือมน โคนสอบแคบ ขอบจักซี่ฟันแหลมเล็กห่าง ๆ กัน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ปลายโค้งจรดขอบใบ แผ่นใบด้านบนมีขนนุ่มประปราย ด้านล่างมีขนนุ่มหนาแน่น เส้นกลางใบมีขนนุ่มค่อนข้างหนาแน่นทั้งด้านบนและด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอด ยาวประมาณ ๒๐ ซม. มีขนนุ่ม ช่อดอกย่อยเป็นกระจุกแน่น วงใบประดับสีม่วง รูปขอบขนาน ปลายแหลม ยาว ๕-๗ มม. ดอกย่อยมีแบบเดียว กลีบเลี้ยงเป็นพู่สีขาวเป็นมันคล้ายไหม ยาวประมาณ ๖ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน อับเรณูติดกันทางด้านข้างหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย โคนอับเรณูเป็นรูปเงี่ยงลูกศร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก เรียบไม่มีสัน มีต่อม เกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ขางหางเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบบนดอยสูง เช่น ดอยเชียงดาว ดอยสุเทพ และดอยอินทนนท์ ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย พม่า และลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางหางเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vernonia parishii Hook. f.
ชื่อสกุล
Vernonia
คำระบุชนิด
parishii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต