ขางปอย

Alchornea rugosa (Lour.) Müll. Arg.

ชื่ออื่น ๆ
ขางปอยน้ำ (กลาง), ซ่าหมากไฟ (เลย), ดับยาง (เชียงใหม่), เปล้าน้ำ (ลำปาง)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอกกลับ ดอกแยกเพศต่างต้น ออกที่ยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะ ผลแบบผลแห้งแตก มี ๓ พู

ขางปอยเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๑-๖ ม. ยอดอ่อนมีขน กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๙-๒๐ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยค่อนข้างตื้นและห่าง ตรงรอยจักมีต่อม เส้นแขนงใบโค้งมีข้างละ ๕-๗ เส้น ที่โคนเส้นใบทางด้านล่างของใบมีขนเป็นกระจุก ก้านใบยาว ๐.๕-๓.๕ ซม. มีขนสั้น ๆ หูใบรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแหลม

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกที่ยอด ดอกเล็ก มีจำนวนมาก ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้เป็นแบบช่อแยกแขนง ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ช่อแขนงยาวเรียว ดอกกลม ติดชิดกันตลอดแขนง กลีบเลี้ยง ๓-๔ กลีบ กลม สีม่วง เกสรเพศผู้ ๘ อัน มักเรียง ๒ แถว ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะสั้น ใบประดับเล็ก กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปค่อนข้างกลม ฐานดอกหนา รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. มี ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม แบน สีน้ำตาลเป็นมัน

 ขางปอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้งและตามชายป่าดิบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย

 ใบและรากต้มน้ำกินเป็นยาแก้ไขและแก้อาการปวดเมื่อย เมล็ดกินเป็นยาถ่าย (Burkill, 1966) ใบต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางปอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Alchornea rugosa (Lour.) Müll. Arg.
ชื่อสกุล
Alchornea
คำระบุชนิด
rugosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean) (1828-1896)
ชื่ออื่น ๆ
ขางปอยน้ำ (กลาง), ซ่าหมากไฟ (เลย), ดับยาง (เชียงใหม่), เปล้าน้ำ (ลำปาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์