ขางครั่ง

Dunbaria bella Prain

ชื่ออื่น ๆ
ดอกครั่ง (เชียงใหม่), เถาครั่ง (เลย)
ไม้เถาล้มลุก ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๓ ใบ เรียงเวียน แผ่นใบย่อย กลีบเลี้ยง และฝักมีต่อมน้ำยาง ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงคล้ำแกมสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน เมล็ดรูปโล่ สีน้ำตาลแดง

ไม้เถาล้มลุก ยาว ๒-๓ ม. มีขนประปราย

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน มีใบย่อย ๓ ใบ ก้านใบยาว ๒-๗ ซม. แกนกลางยาว ๑-๒.๕ ซม. แผ่นใบย่อยรูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายและโคนมนบางครั้งเว้าเล็กน้อย มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น ผิวใบด้านบนเกลี้ยงถึงมีขนประปราย ด้านล่างมีขนนุ่ม ก้านใบย่อยสั้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว ด้านในสีเหลือง ด้านนอกสีม่วงคล้ำ ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. ใบประดับย่อยเล็กและหลุดร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกปลายแหลม ๕ แฉก ยาว ๖-๗ มม. แฉกล่างสุดยาวกว่าแฉกอื่น กลีบดอกกลีบกลางรูปไต ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบคู่ล่างติดกัน ปลายกลีบบิดโค้ง ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่น ๙ อัน หุ้มรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๘-๑๐ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. มีเมล็ด ๕-๘ เมล็ด รูปโล่ สีน้ำตาล กว้างและยาวประมาณ ๕ มม.

 ขางครั่งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ (จังหวัดชุมพร) ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าชายหาด ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง ๘๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม ผลแก่ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่ พม่า จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางครั่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dunbaria bella Prain
ชื่อสกุล
Dunbaria
คำระบุชนิด
bella
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Prain, David
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1857-1944)
ชื่ออื่น ๆ
ดอกครั่ง (เชียงใหม่), เถาครั่ง (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม