ขางขาว

Xanthophyllum virens Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
นกค่อ, มะดูก (เหนือ)
ไม้ต้น ตามกิ่งมีตุ่มคล้ายหนามแข็งเหนือก้านใบหรือเหนือรอยแผลใบ เปลือกในสีน้ำตาลอมเหลือง ใบเรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม สุกสีเหลือง

ขางขาวเป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๕ ม. ลำต้นมักเป็นพูเล็ก ๆ ตามยาว เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ค่อนข้างทึบ ตามกิ่งมักมีตุ่มคล้ายหนามแข็ง อยู่ประปรายบริเวณเหนือก้านใบหรือเหนือรอยแผลใบ เปลือกค่อนข้างเรียบ สีเขียวอมเทาหรืออมน้ำตาล เปลือกในสีน้ำตาลอมเหลืองหรือน้ำตาลอมส้ม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๙-๑๘ ซม. ปลายแหลมหรือหยักคอดเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือสอบแคบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย หรือจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ในส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง ใบแห้งสีเหลืองอ่อน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น แต่ละเส้นปลายโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นร่างแหมองเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบอวบและย่นเป็นร่องทางด้านบน สีคล้ำเมื่อแห้ง

 ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ถ้าออกตามง่ามใบช่อไม่แยกแขนง แต่ที่ออกตามปลายกิ่งจะแยกแขนงเป็นช่อใหญ่ ยาวได้ถึง ๒๕ ซม. มีขนประปราย ดอกเล็ก สีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กลีบที่อยู่ด้านใน ๒ กลีบใหญ่กว่าอีก ๓ กลีบที่อยู่นอกสุด ด้านนอกมีขนสีเทาอมเหลือง ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปช้อน กลีบหนึ่งหุ้มเกสรเพศผู้และก้านยอดเกสรเพศเมียไว้ เกสรเพศผู้ ๘ อัน ติดอยู่รอบรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม มีขนประปราย มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๔ เม็ด แต่มักเจริญเป็นเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวไล่เลี่ยกับเกสรเพศผู้และมีขนสั้น ๆ

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ผลแก่สีเหลือง

 ขางขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นตามป่าดิบทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา และพม่า

 เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด เป็นเส้นตรง สีขาวอมเหลืองอ่อน เหมาะสำหรับทำเครื่องเรือนและสิ่งปลูกสร้างภายในร่มทั่ว ๆ ไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xanthophyllum virens Roxb.
ชื่อสกุล
Xanthophyllum
คำระบุชนิด
virens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
นกค่อ, มะดูก (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย