ขะเจาะหลวง

Millettia macrostachya Collett & Hemsl. var. tecta Craib

ชื่ออื่น ๆ
ขะเจาะใหญ่ (นราธิวาส)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีม่วง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ

ขะเจาะหลวงเป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๘ ม. กิ่งอ่อน ใบ และช่อดอกมีขนนุ่ม สีน้ำตาล

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๒๕-๕๐ ซม. ก้านใบยาว ๘-๑๐ ซม. หูใบเล็ก หลุดร่วงง่าย แกนใบยาว ๑๐-๑๕ ซม. ใบย่อย (๗-)๙-๑๓ ใบ ออกตรงข้าม แผ่นใบย่อยรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๔.๕-๑๐ ซม. ยาว ๙-๒๐ ซม. ปลายมนและหยักเว้า โคนมนถึงทู่ ด้านบนเกลี้ยงถึงมีขนประปรายตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น ก้านใบย่อย ยาว ๔-๘ มม. ใบประดับเล็ก หลุดร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๒๕ ซม. ใบประดับเล็ก หลุดร่วงง่าย ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วง ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. ใบประดับย่อยรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวประมาณ ๔ มม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๔ แฉก ยาวประมาณ ๑.๑ มม. กลีบดอกกลีบกลางรูปโล่ ปลายเว้า เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๓ ซม. ด้านนอกมีขน ด้านในตอนปลายมีขน กลีบดอกคู่ข้างรูปแถบแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. กลีบดอกคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่นหุ้มรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบแกมรูปใบหอก มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑๐–๑๕ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ กว้าง ๓.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๒๕-๓๕ ซม. เกลี้ยงถึงมีขนประปราย เมล็ดรูปโล่แกมรูปไต กว้าง ๑.๘-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. สีน้ำตาลแดง

 ขะเจาะหลวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคใต้ บริเวณที่โล่งริมลำธาร ในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เป็นผลประมาณเดือนตุลาคม ในต่างประเทศพบที่พม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขะเจาะหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Millettia macrostachya Collett & Hemsl. var. tecta Craib
ชื่อสกุล
Millettia
คำระบุชนิด
macrostachya
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Collett, Henry
- Hemsley, William Botting
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. tecta
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Craib
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Collett, Henry (1836-1901)
- Hemsley, William Botting (1843-1924)
ชื่ออื่น ๆ
ขะเจาะใหญ่ (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม