ขะเจาะ

Millettia leucantha Kurz var. latifolia (Dunn) Phan Kê Lôc

ไม้ต้น กิ่งอ่อนคดไปมา ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาวถึงเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปใบหอกกลับถึงรูปแถบแกมรูปไข่กลับ

ไม้ต้น สูง ๕-๑๕ ม. กิ่งอ่อนคดไปมา ปลายกิ่งห้อยลง กิ่งอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และฝัก มีขนสั้นประปราย

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๓-๕ ซม. หูใบรูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒.๕-๕ มม. แกนกลางใบยาว ๗-๑๕ ซม. มีใบย่อย ๕-๗(๙) ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปไข่ ถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๔-๑๔ ซม. ปลายเรียว ปลายสุดทู่ โคนมนถึงแหลม เส้นแขนงใบข้างละ (๘-)๑๐-๑๒ เส้น ผิวใบมีขนสั้นประปราย ก้านใบย่อย ยาว ๔-๕ มม. หูใบย่อยรูปแถบแกมรูปขอบขนาน ยาว ๒-๓ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อย เล็ก หลุดร่วงง่าย ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวถึงเหลืองอ่อน ก้านดอกยาว ๓-๔ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายเป็นแฉกแหลม ๔ แฉก ยาวประมาณ ๖ มม. กลีบดอกกลีบกลางรูปโล่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๙ มม. กลีบดอกคู่ข้างรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๙ มม. กลีบดอกคู่ล่างเชื่อมติดกันเป็นรูปเรือ ยาวประมาณ ๙ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่นหุ้มรังไข่ไว้ภายใน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบ มีขนคลุม มี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๖ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปใบหอกกลับถึงรูปแถบแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๔ ซม. ยาว ๗-๑๔ ซม. เมล็ด (๑-)๓-๕ เมล็ด รูปขอบขนานแกมรูปรี ถึงรูปไข่กลับ สีน้ำตาลแดง กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๘-๒ ซม.

 ขะเจาะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากน้ำทะเล ๕๐-๘๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม-มีนาคม ในต่างประเทศพบที่ลาว และกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขะเจาะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Millettia leucantha Kurz var. latifolia (Dunn) Phan Kê Lôc
ชื่อสกุล
Millettia
คำระบุชนิด
leucantha
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz (see also Amann, J.)
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. latifolia
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Dunn) Phan Kê Lôc
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม