ขอซิง

Luisia curtisii Seidenf.

กล้วยไม้อิงอาศัย ต้นรูปทรงกระบอกยาวและแข็งใบเดี่ยว เรียงสลับหรือกึ่งเรียงเวียน รูปทรงกระบอก ยาวและแข็ง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อตรงข้ามใบดอกสีนวลหรือสีเหลืองหม่นแกมสีม่วงคล้ำ ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เมล็ดมีจำนวนมาก ขนาดเล็กคล้ายผง

ขอซิงเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด มีเหง้าทอดไปตามเปลือกไม้หรือหิน ต้นรูปทรงกระบอกยาวและแข็ง สูง ๑๕-๔๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับหรือกึ่งเรียงเวียน ห่างกัน ๒-๖ ซม. ตลอดต้น ใบรูปทรงกระบอกยาวและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายแหลมโคนเป็นปลอกหุ้มต้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อตรงข้ามใบ แทงทะลุปลอกหุ้มต้น ก้านและแกนช่อดอกยาว ๑.๕-๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางใกล้เคียงกับต้น ก้านดอกและรังไข่ยาวประมาณ ๘ มม. ดอกสีนวลหรือสีเหลืองหม่นแกมสีม่วงคล้ำกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๗-๘ มม. ขอบโค้งขึ้น ปลายมนและงุ้มเล็กน้อยกลีบเลี้ยงด้านข้างบิดตัวลงมาขนานกับกลีบปาก รูปคล้ายเรือ กว้างประมาณ ๗ มม. ยาว ๗-๘ มม. ด้านนอกเป็นสันตามแนวกลาง กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างรูปแถบกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑.๔-๑.๕ ซม. ปลายมน กลีบที่เป็นกลีบปากหนา อยู่ทางด้านล่าง สีม่วงคล้ำเกือบดำ มี ๒ ช่วง ช่วงโคนรูปสี่เหลี่ยม กว้างและยาว ๔-๕ มม. หูกลีบปากเล็กเป็นติ่งมน กลีบปากช่วงปลายรูปหัวใจ มีแนวรอยต่อกับช่วงโคนชัดเจน กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. ด้านบนขรุขระ มีร่องทั้งตามยาวและตามขวาง เส้าเกสรสั้น ฝาปิดกลุ่มเรณูสีนวล รูปคล้ายหมวก กลุ่มเรณูรูปค่อนข้างกลม มีร่องโค้ง มี ๒ กลุ่ม ติดอยู่บนแถบบางใส ปลายแถบพับงอเป็นแผ่น มีสารเหนียวทางด้านนอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นโพรงเต็มด้านหน้าของเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. เมล็ดมีจำนวนมากขนาดเล็กคล้ายผง

 ขอซิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ พบขึ้นตามลานหินหรือบนต้นไม้ในป่าเต็งรัง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม มาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขอซิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Luisia curtisii Seidenf.
ชื่อสกุล
Luisia
คำระบุชนิด
curtisii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Seidenfaden, Gunnar
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1908-2001)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง