ขลู่

Pluchea indica (L.) Less.

ชื่ออื่น ๆ
ขลู (ภาคใต้); หนวดงั่ว, หนวดงิ้ว, หนวดวัว (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้พุ่ม ใบเรียงเวียน รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ประกอบด้วยดอกย่อย ๒ แบบ สีชมพูอมม่วงอ่อน ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน

ขลู่เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. ยอดอ่อนมีขน ลำต้นค่อนข้างกลม สีเขียวแกมม่วง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่ กว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๒-๗ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบหยักซี่ฟันแกมจักฟันเลื่อย แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ไม่เด่นชัด ก้านใบยาว ๐.๑-๑ ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายยอดหรือปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๑๐ ซม. โคนก้านช่อมีใบประดับเล็ก ๆ ช่อย่อยเป็นช่อกระจุกแน่น มีใบประดับรูปไข่หรือสามเหลี่ยมแคบจำนวนมากเรียงเป็นวงรอบขอบฐานดอกและซ้อนกันแน่น ใบประดับชั้นนอกกว้างกว่าและสั้นกว่าชั้นใน ๆ ตามลำดับ ดอกสีชมพูอมม่วงอ่อน ฐานดอกค่อนข้างกลมแบน ดอกย่อยมี ๒ แบบ ดอกบริเวณกลางฐานดอกมี ๓-๗ ดอก ขนาดใหญ่กว่าดอกที่เหลือโดยรอบ กลีบเลี้ยงเป็นขนคล้ายเส้นไหมจำนวนมากและยาวไล่เลี่ยกันกับกลีบดอก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๕ มม. ปลายหยักแหลมเล็ก ๆ ๕ หยัก เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูสีชมพูอมม่วง ยาวกว่ากลีบดอกเล็กน้อย อับเรณูสีม่วง ติดกันเป็นหลอดและหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ปลายก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่พ้นหลอดอับเรณู ดอกที่เหลือโดยรอบมีจำนวนมาก ปลายกลีบดอกหยัก ๓ หยัก ไม่มีเกสรเพศผู้ ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก เล็กมาก มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน เล็กมาก รูปรีหรือรูปทรงกระบอก มีขนเป็นพู่สั้นตอนปลายขลู่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง รกร้าง และที่ใกล้ทะเล ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ในคาบสมุทรอินโดจีนใช้รากและใบเป็นยาแก้ไข้ ในมาเลเซียใช้ใบเป็นยาพอกแผล (Perry and Metzger, 1980) ใบอ่อนกินได้.




ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขลู่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pluchea indica (L.) Less.
ชื่อสกุล
Pluchea
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Lessing Christien Friedrich
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Lessing Christien Friedrich (1809-1862)
ชื่ออื่น ๆ
ขลู (ภาคใต้); หนวดงั่ว, หนวดงิ้ว, หนวดวัว (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์