ขยุ้มตีนหมา

Ipomoea pes-tigridis L.

ชื่ออื่น ๆ
เถาสายทองลอย (สิงห์บุรี), เพาละบูลู (ยะลา)
ไม้เถา มีขนแข็งทั่วทั้งต้น ใบเรียงสลับ รูปฝ่ามือ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ใบประดับเรียงเป็นชั้นรองรับช่อดอก มีขนหนาแน่น ดอกสีขาวรูปกรวย ผลแบบผลแห้งแตก

ขยุ้มตีนหมาเป็นไม้เถา ลำต้นเลื้อยพันหรือแผ่คลุมพื้นดิน มีขนแข็งทั่วทั้งต้น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปฝ่ามือ กว้าง ๒.๕-๑๐ ซม. ยาว ๓-๗.๕ ซม. โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบเว้าลึกแบบนิ้วมือถึงประมาณกึ่งกลางใบหรือเกือบถึงโคนใบ ๓-๙ แฉก แต่ละแฉกรูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลมหรือเรียวแหลม แผ่นใบมีขนแข็งและหยาบทั้ง ๒ ด้าน ใบอ่อนมีขนหนาแน่นกว่า เส้นใบจากโคนใบเท่าจำนวนแฉกใบ ก้านใบยาว ๑.๕-๑๐ ซม. มีขนแข็งเช่นเดียวกับลำต้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว ๒-๑๘ ซม. มีขนแข็งเหมือนลำต้น ใบประดับเรียงเป็นชั้นรองรับช่อดอก ใบประดับชั้นนอกรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ยาว ๑.๕-๓ ซม. ชั้นในแคบและสั้นกว่า มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก ขนาดต่างกันเล็กน้อย ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. และขยายขนาดใหญ่ขึ้นยาวได้ถึง ๑.๘ ซม. เมื่อเจริญขึ้นคลุมผล มีขนยาวและแข็งหนาแน่น กลีบดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓.๕ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๒.๕-๔ ซม. ปลายแยก ๕ แฉก ปลายแฉกเว้าเป็นคลื่น มีขนประปรายบริเวณกึ่งกลางกลีบ เกสรเพศผู้ ๕ อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกับโคนกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด มีจานฐานดอกรูปวงแหวนล้อมรอบ ก้านชูยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่ สีน้ำตาล ยาว ๖-๘ มม. มี ๔ เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. สีดำ มีขนสั้นและนุ่ม สีเทา ร่วงง่าย

 ขยุ้มตีนหมามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นปะปนกับหญ้าและวัชพืชตามที่รกร้าง บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในเอเชียเขตร้อน ทางตะวันออกของแอฟริกาเขตร้อน และหมู่เกาะมัสคารีน

 ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ใช้ใบเป็นยาพอกแผล.




ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขยุ้มตีนหมา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ipomoea pes-tigridis L.
ชื่อสกุล
Ipomoea
คำระบุชนิด
pes-tigridis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
เถาสายทองลอย (สิงห์บุรี), เพาละบูลู (ยะลา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา