ขยัน

Bauhinia strychnifolia Craib

ชื่ออื่น ๆ
เครือขยัน, สยาน (เหนือ); เถาย่านางแดง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้เถา มียอดสีแดง ใบเรียงเวียน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีแดง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนาน แบน มี ๘-๙ เมล็ด

ขยันเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้มากกว่า ๕ ม. มียอดสีแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งหรือหยักเล็กน้อย โคนมนกว้าง เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น หูใบรูปเคียว ยาว ๒-๓ มม. ก้านใบยาว ๒-๓.๕ ซม. มีมือเกาะออกตรงข้ามกับใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะตั้งขึ้น ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๐.๕-๑ ม. ก้านดอกยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. มีขน ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ ๑ ซม. ใบประดับย่อยยาวประมาณ ๒ มม. ติดอยู่ตอนกลางของก้านดอก กลีบเลี้ยงยาว ๕-๗ มม. โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก มีขนนุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ สีแดง กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. มีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ที่สมบูรณ์ ๓ อัน ที่เป็นหมัน ๗ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน มีก้านมีขนนุ่ม มี ๑ ช่อง และออวุลหลายเม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๖ ซม. เปลือกแข็งคล้ายไม้ เมล็ดแบน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. มี ๘-๙ เมล็ด

 ขยันเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย พบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าโปร่งและทุ่งหญ้า บริเวณชายป่าในที่ต่ำ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐๐ ม.

 เปลือกใช้ทำเชือกหยาบ ๆ.



ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขยัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia strychnifolia Craib
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
strychnifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Criaib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
เครือขยัน, สยาน (เหนือ); เถาย่านางแดง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม