ขมิ้นแดง

Curcuma roscoeana Wall.

ชื่ออื่น ๆ
กระเจียวส้ม, บัวสวรรค์ (กลาง)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ใบประดับสีส้มตลอดช่อดอกสีขาว อับเรณูปลายมีหงอน โคนไม่มีเดือย ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดรูปกระสวย

ขมิ้นแดงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าขนาดเล็ก สีขาว ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันชูขึ้นเหนือดิน สูง ๕๐-๘๐ ซม. ขึ้นเป็นกอ แต่ละต้นมีใบ ๕-๘ ใบ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง ๙-๑๖ ซม. ยาว ๒๕-๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนและสอบเข้าหาก้านใบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑๑-๒๖ ซม. ลิ้นใบยาว ๒-๕ ซม. ปลายมน มีขนครุย

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ก้านช่อยาว ๗-๙ ซม. ช่อดอกรูปทรงกระบอก กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. ประกอบด้วยใบประดับเรียงซ้อนกันแน่นใบประดับที่ปลายช่อมีสีส้ม ไม่มีดอก ใบประดับที่โคนช่อสีส้มและมีลักษณะเหมือนกัน รูปใบหอกกลับหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๔ ซม. ปลายมนและโค้งกลับ มีดอก ใบประดับย่อยเป็นเยื่อสีขาว รูปรีแกมรูปไข่กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายมนกลีบเลี้ยงสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ ซม. ขยายกว้างไปหาปลาย ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๓ แฉก กลีบดอกสีขาว ส่วนที่เป็นหลอดยาว ๓-๔ ซม. ขยายกว้างไปหาปลาย ส่วนปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบบนกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมน กลีบข้าง ๒ กลีบ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนเป็นกลีบปากรูปไข่กลับปลายมน ตรงกลางหยักเล็กน้อย กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. สีขาว มีแถบสีเหลืองตามยาวกลางแผ่น เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลือรูปรี ปลายแหลมหรือหยักตื้นเป็น ๒ พู กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๔ ซม. สีขาว เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูกว้างและยาวประมาณ ๓ มม. อับเรณูสีขาว ปลายมีหงอน ปลายหงอนมนและโค้งกลับ โคนไม่มีเดือย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ สีขาว ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายถ้วยขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดมีจำนวนมากรูปกระสวย

 ขมิ้นแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ชอบขึ้นใกล้ลำธารที่โล่ง แหล่งที่ถูกทำลายและที่รกร้าง ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๔๕๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงตุลาคมในต่างประเทศพบที่อินเดียและเมียนมา

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขมิ้นแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Curcuma roscoeana Wall.
ชื่อสกุล
Curcuma
คำระบุชนิด
roscoeana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1786-1854)
ชื่ออื่น ๆ
กระเจียวส้ม, บัวสวรรค์ (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์