ขมัน

Poikilospermum suaveolens (Blume) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
กุระเปี๊ยะ (สงขลา); เครือเต่าไห้ (ลำปาง); ชะไร, ยาวี (สตูล); เถากะมัน, ย่านมูรู (พัทลุง); มะรุ (ปัตต
ไม้เถาเนื้อแข็ง มีรอยแผลใบตามกิ่งอ่อน ใบเรียงเวียน รูปไข่ รูปไข่กลับหรือรูปรี ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกสีน้ำตาลอมเทา ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน

ขมันเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นทอดยาวได้ถึง ๓๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๕ ซม. เปลือกลำต้นเกลี้ยงถึงมีขนอุยสีขาว และมักมีเกล็ดสีน้ำตาลตามแนวขวางลำต้น มีรอยแผลใบและรอยแผลหูใบเห็นชัดเจนตามกิ่งอ่อน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปไข่กว้าง รูปไข่กลับ ถึงรูปรี กว้าง ๖-๒๕ ซม. ยาว ๑๐-๔๐ ซม. ปลายแหลมถึงป้าน โคนสอบรูปลิ่ม มน หรือเว้า ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนา เกลี้ยงหรือมีขนประปรายบนเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๔-๑๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๖ มม. ผิวเกลี้ยงถึงมีขนและเป็นเกล็ดสีน้ำตาล หูใบโค้งเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ยาว ๑-๔ ซม. ไม่ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ช่อดอกเพศผู้ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ ซม. ประกอบด้วยช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุก ๒๐-๕๐ ช่อ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๘ มม. ก้านช่อดอกมักแตกเป็น ๒ ง่าม ๒-๓ ชั้น ใบประดับรูปคล้ายเรือ ไม่หลุดร่วง เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ที่ปลายก้านช่อดอกและที่โคนก้านช่อดอกย่อย ดอกเพศผู้กว้างและยาว ๑.๕-๒ มม. ไม่มีก้าน กลีบรวมมีขนอุยถึงขนหยาบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉกเล็ก ๆ เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน เกสรเพศเมียเล็กมากและเป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๙ ซม. ประกอบด้วยช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุก ๒-๔ ช่อ แต่ละช่อทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ ซม. ใบประดับก้านช่อดอกคล้ายกับในช่อดอกเพศผู้แต่ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ดอกเพศเมียมีก้านยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบรวมกว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๔ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๔ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๑-๒ มม. มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๕ มม. มีกลีบรวมแห้งหุ้มอีกชั้นหนึ่ง มีเมล็ดเดียว

 ขมันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย และภูมิภาคอินโดจีน

 เปลือกเถาใช้เป็นเชือก ลำต้นตำให้แหลกใช้สระผมเพื่อฆ่าเหา (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขมัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Poikilospermum suaveolens (Blume) Merr.
ชื่อสกุล
Poikilospermum
คำระบุชนิด
suaveolens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
กุระเปี๊ยะ (สงขลา); เครือเต่าไห้ (ลำปาง); ชะไร, ยาวี (สตูล); เถากะมัน, ย่านมูรู (พัทลุง); มะรุ (ปัตต
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา