ขมหินหยก

Pilea fruticosa Hook. f.

ไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ ขาวใส ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกสีเขียวอ่อนถึงเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่เมล็ดเล็กมาก มี ๑ เมล็ด

ขมหินหยกเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๓๐ ซม. ลำต้นอวบน้ำ ขาวใส อาจแตกกิ่งก้านบ้าง

 ใบเดี่ยว อวบน้ำ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน คู่ใบมีขนาดเท่ากัน กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๖.๕ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม สอบและมักเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยลึก แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีเขียวนวล มีขนสีขาวทั้ง ๒ ด้านและมักหลุดร่วงง่าย มีผลึกเป็นจุดเล็ก ๆ สีขาวกระจายทั่วไป เส้นโคนใบ ๓ เส้น คู่ข้างยาวไม่ถึงปลายใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบเรียว ยาว ๐.๕-๓.๕ ซม. มีขนประปราย หูใบเล็กมาก รูปคล้ายใบ โคนด้านในเชื่อมติดกัน

 ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. เรียวเล็กคล้ายเส้นด้ายแต่ละช่อแยกแขนง ๑-๘ แขนง ดอกสีเขียวอ่อนถึงเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก พบน้อยที่มี ๔ แฉก ขนาดใกล้เคียงกันแต่ละแฉกยาวประมาณ ๐.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๓ เกสร พบน้อยที่มี ๔ เกสร ติดตรงกับกลีบรวม ยาวประมาณ ๑ มม. ดอกเพศเมียมีกลีบรวม ๓ กลีบ พบน้อยที่มี ๔ กลีบ ยาว ๐.๕-๑.๒ มม. แต่ละกลีบยาวไม่เท่ากันและมีขนาดสั้นกว่าในดอกเพศผู้ ทุกกลีบมีขนประปรายตามผิวด้านนอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีขนประปราย มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. มีกลีบรวมบิดเบี้ยวและติดทน ก้านผลเห็นไม่ชัดเมล็ดเล็กมาก มี ๑ เมล็ด

 ขมหินหยกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลไม่เกิน ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขมหินหยก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pilea fruticosa Hook. f.
ชื่อสกุล
Pilea
คำระบุชนิด
fruticosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย